“ซิซซา กรุ๊ป” เผย วิกฤตโควิด-19 หนักกว่าสึนามิ 10 เท่า ยันไม่เอาคนออก พร้อมยก รร.หรูให้แพทย์-นทท.ที่ติดค้าง เข้าพักฟรี

“ซิซซา กรุ๊ป” เผย วิกฤตโควิด-19 หนักกว่าสึนามิ 10 เท่า ยันไม่เอาคนออก พร้อมยก รร.หรูให้ แพทย์-นทท.ที่ติดค้าง เข้าพักฟรี

ซิซซา กรุ๊ป – สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระบาดมาได้กว่า 4 เดือนแล้ว แนวโน้มผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้นทุกวันจนรัฐบาลออกมาตรการปิดพื้นที่ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างที่รู้ๆ กันคือ “การท่องเที่ยวและโรงแรม”

ผู้ประกอบการบางคนมีการปรับตัว ใช้โรงแรมของตัวเองเป็นสถานที่รองรับ ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้เข้ามาพักผ่อนให้หายเหนื่อยแล้วกลับไปทำหน้าที่ต่อ  “นักท่องเทึ่ยว” ก็เป็นคนอีกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้และต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” เคยนำเสนอข่าวของ ซิซซา กรุ๊ป ที่ยกโรงแรมหรูติดหาดพังงา ให้แพทย์และนักท่องเที่ยวที่ติดค้างจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เข้าพักฟรี (อ่านข่าว คลิก )

นายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด (CISSA Group) ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ทางโรงแรมได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้รับผลกกระทบจากสถานการณ์โควิดเช่นกัน หลายๆ ประเทศมีมาตรการสั่งปิดประเทศเพื่อระงับการแพร่ระบาด ไฟลต์บินที่จะเดินทางกลับ ก็โดนสั่งให้หยุดบิน ทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่สามารถกลับเข้าหรือออกนอกประเทศได้

“ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้มาก โดยเฉพาะภูเก็ต ที่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของต่างชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวก็ลดลงเรื่อยๆ ตามสเต็ป โดยนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนก็หายไป ชาติอื่นๆ ก็มีบุ๊กเข้ามาบ้าง แต่เขาก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน บางคนบินมาเที่ยวที่ไทย ก็มีงบประมาณจำกัด บางคนไฟลต์บินขาด กลับประเทศไม่ได้ ทางโรงแรมก็เห็นใจ เลยมีการประชุมกันและมีมติออกมาว่า เราขอเป็นโรงแรมที่เริ่มต้น ช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะธุรกิจเรา หากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ มันก็อยู่ไม่ได้ นักท่องเที่ยวเป็นคนให้เงินเรา ถือว่าช่วยเราดำเนินธุรกิจนะ วันหนึ่งหากเขากลับมา เขาอาจจะช่วยเหลือเราได้อีก” คุณอรรถนพ กล่าว

เขายังกล่าวต่อว่า นอกจากนักท่องเที่ยวจะติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือแล้ว เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ก็ติดต่อเข้ามาขอพักด้วยเช่นกัน โดยเงื่อนไขในการขอเข้าพักจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ เงื่อนไขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และ เงื่อนไขสำหรับนักท่องเที่ยว

“ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราขอเอกสารเพียงบัตรเจ้าหน้าที่หรือพนักงานในโรงพยาบาลที่สังกัดอยู่กับใบรับรองแพทย์ว่า ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่วนถ้าเป็นนักท่องเที่ยว เราขอใบรับรองแพทย์ว่าไม่ติดโควิดเช่นกัน และเอกสารส่วนตัวต่างๆ เช่น พาสปอร์ต ประวัติคร่าวๆ และตั๋วเครื่องบินเพื่อดูว่าเป็นนักท่องเที่ยวตกค้างจริงๆ และห้องหนึ่งอยู่ได้ไม่เกิน 2 คน โดย 1 คน จะให้เข้าพักได้ไม่เกิน 14 วัน เพื่อป้องกันความปลอดภัย หากใครจะเข้ามา ให้โทรมาสอบถามที่โรงแรมก่อนดีกว่า เพื่อเตรียมเอกสารให้พร้อมสำหรับการเข้าพัก” คุณอรรถนพ ว่าอย่างนั้น

ดูเหมือนว่าการเปิดโรงแรมให้บุคลากรทางการแพทย์และนักท่องเที่ยวที่ติดค้างได้เข้าพักฟรี จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับทางโรงแรมไม่น้อยเลยทีเดียว จึงอดถามถึงการบริหารและการจัดการต้นทุน โดยเจ้าของโรงแรมรายเดิม กล่าวว่า

“ทางโรงแรมมีพนักงานในความดูแลทั้งหมด 300 กว่าชีวิต รวมทั้ง 2 โรงแรม แน่นอนว่าเจอผลกระทบแบบนี้ เรามีต้นทุนที่ต้องแบก และต้องแบกในส่วนของการเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ติดค้างและพวกหมอเข้ามาพักฟรี แต่เราก็ไม่มีนโยบายเอาคนของเราออกเช่นกัน ถึงไม่มีแขกก็ยังต้องรับผิดชอบพนักงานในความดูแลเอาไว้ เพราะเขาทำงานกับเรามานาน และผมก็ไม่อยากให้เขาขาดรายได้ สถานการณ์มันแย่อยู่แล้ว เราก็ไม่อยากไปซ้ำเติมเขา ทางซิซซา กรุ๊ป เอง ก็มีเงินสำรองจากการที่เราทำธุรกิจมานานเก็บไว้อยู่ และก็มีทุนส่วนตัวของผมที่นำออกมาใช้ ซึ่งคำนวณดูแล้ว โรงแรมใช้เงินเดือนละประมาณ 6 ล้าน ก็พอจะอยู่ได้ประมาณ 4 เดือน ก็หวังว่าวิกฤตครั้งนี้ จะผ่านไปได้โดยเร็ว” เจ้าของโรงแรมรายเดิม ว่าอย่างนั้น

ถามถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ เทียบกับสึนามิเมื่อปี 47 ได้หรือไม่ คุณอรรถนพให้ความเห็นว่า ภูเก็ต เรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อในหมู่ชาวต่างชาติ หากเปรียบเทียบกันแล้ว สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบใหญ่กับภาคธุรกิจมากกว่าสึนามิเสียอีก!

“โควิดหนักกว่าสึนามิครับ หนักกว่าเป็น 10 เท่าเลย เพราะสึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดทั่วโลก คือมันเกิดขึ้นแค่วันเดียวและจบ เศรษฐกิจอื่นๆ ก็เลยไม่ได้รับผลกระทบ มันยังทำให้อุตสาหกรรมภาคธุรกิจยังไปต่อได้ แต่โควิดมันเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกและเราเองก็ไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ ยิ่งสถานการณ์ยาวนานมากเท่าไหร่ ผมว่ามันยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นนะ เพราะมันแสดงถึงความไม่ปลอดภัย มันก็ส่งผลให้ไม่เกิดการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีการท่องเที่ยวก็ไม่มีการลงทุน มันก็จะกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ แต่ถามว่าท้อไหม ไม่ท้อนะ เพราะคนทำธุรกิจมันต้องผ่านเส้นทางที่ยากลำบากกันมาอยู่แล้ว” คุณอรรถนพ อธิบายให้ฟัง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก CISSA GROUP  และ +66(0)76401301