อาชีพแห่งอนาคต! วิศวกรชีวการแพทย์ ผลตอบแทนดี แถมได้บุญด้วย

อาชีพแห่งอนาคต! วิศวกรชีวการแพทย์ ผลตอบแทนดี แถมได้บุญด้วย

รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิวัฒนาการของการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตจากการรักษาผู้ป่วย (Cure Patients) เป็นการดูแลรักษาสุขภาพของประชากร (Care for citizens) มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการเน้นการให้ความสำคัญของกระบวนการและสถานประกอบการมาที่การเน้นการใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนแปลงจากเชิงตั้งรับโดยการรักษาโรคเป็นการป้องกันโรค เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับโรงพยาบาล มาเน้นการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาที่บ้านมากขึ้น และจากการให้ความสำคัญกับวิธีการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาแบบการรุกล้ำเข้าไปในร่างกายเป็นการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาแบบไม่รุกล้ำหรือรุกล้ำที่น้อยที่สุด

จากวิวัฒนาการดังกล่าว ทำให้การที่จะดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชนทั้งเชิงป้องกันและเชิงรักษาในปัจจุบันและอนาคตให้ปราศจากโรคหรือให้หายจากโรคได้นั้น นอกจากจะมีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ และยารักษาโรคแล้ว ยังต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ และผู้ที่มีหน้าที่ค้นคว้า วิจัย ประดิษฐ์ ผลิต จำหน่าย บริหารจัดการให้การใช้งานได้มาตรฐานเพียงพอและพร้อมใช้ตลอดอายุการใช้งาน ตลอดจนกระทั่งการทำการกำจัดทิ้งที่ถูกวิธี เขาเหล่านั้นคืออาชีพที่เรียกว่า “วิศวกรชีวการแพทย์” ซึ่งเป็นผู้ที่เรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในยุคของการดูแลรักษาสุขภาพยุคใหม่ โดยที่ วิศวกรชีวการแพทย์ เป็นอาชีพที่ท้าทายและเป็นวิชาชีพแห่งอนาคตของโลกเพราะเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งแพทย์และวิศวกรในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ

รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สำหรับแนวทางการประกอบอาชีพของวิศวกรชีวการแพทย์นั้น เนื่องจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทิศทางที่ก้าวหน้าและทันสมัยอย่างรวดเร็ว ดังนั้น บทบาทของวิศวกรชีวการแพทย์จะมีความสำคัญเป็นอย่างสูงต่อการดูแลรักษาสุขภาพทั้งในเชิงการป้องกันและการรักษา ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ประเทศชาติ สังคมจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ทั้งงาน เงิน และได้บุญเป็นอย่างสูง อาชีพที่วิศวกรชีวการแพทย์สามารถทำได้มีหลากหลายมิติ ได้แก่

1. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบการผลิตวัสดุชีวภาพขึ้นมาสำหรับทดแทนวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อของมนุษย์ เช่น การสร้างอวัยวะเทียม (Artificial Organs) : ผิวหนังเทียม หลอดเลือดเทียม เป็นต้น

2. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค รักษาโรค เพื่อการผ่าตัด เพื่อการบำบัด หุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

3. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบการประมวลผลภาพทางการแพทย์ (Image processing) : การประมวลภาพจากเครื่องฉายภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging Machines) เช่น CT Scan, MRI เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีแกมมา เช่น SPECT หรือ PET Scan เป็นต้น มาประมวลผลให้สะดวกกับการวิเคราะห์ผล เช่น โปรแกรมตรวจหารอยโรคบริเวณของการเกิดโรคต่างๆ เพื่อทำให้เห็นภาพของอวัยวะเป้าหมายที่เด่นชัดมากขึ้น

4. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบการประมวลผลสัญญาณทางการแพทย์ (Signal processing) : เป็นการวัดและนำเอาสัญญาณจากร่างกายมนุษย์มาประมวลผลด้วยคณิตศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับวินิจฉัยการทำงานของร่ายการมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตและ/ หรือ นำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมเครื่องมือสำหรับอำนวยความสะดวกกับมนุษย์ รวมทั้งอาจจะใช้สำหรับช่วยในการตัดสินใจ หรือนำเอาข้อมูลที่ได้จากสัญญาณมาสร้างเป็นปัญญาประดิษฐ์ เช่น การตรวจจับสัญญาณกะพริบตาในผู้ป่วยที่พิการทางด้านการเคลื่อนไหว เพื่อควบคุม การเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตรวจจับสัญญาณสมองเมื่อเกิดอาการหลับระหว่างการทำงานหรือขับรถ ใช้สำหรับทางด้านการตลาดหรือที่เรียกว่า Neuro Marketing เป็นต้น

5.ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (Medical Artificial Intelligence ; AI ทางการแพทย์) : ที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับใช้ในการช่วยตัดสินใจ ช่วยตรวจสอบ หรือทำให้การทำงานของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้สะดวกถูกต้องและมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยในการทดแทนการทำงานในลักษณะที่เป็นงานซ้ำๆ ใช้ข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมากอย่าง เช่น การทำนายการเกิดโรคต่างๆ โดยอาศัยจากข้อมูลทางการแพทย์, ทำนายโรคจากภาพทางการแพทย์ ช่วยตัดสินใจและอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

6. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางการแพทย์ (Medical Internet of Thing; IoT)  เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ตรวจวัดทางชีววิทยา (Biosensors) สำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัยและติดตามเฝ้าระวังอาการความผิดปกติของมนุษย์ เช่น เครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือด, เครื่อง Monitoring ผู้ป่วย วัดความดันโลหิต ชีพจร และออกซิเจนในเลือด รวมทั้งระบบ IoT ทางการแพทย์ที่สามารถวัดข้อมูลทางการแพทย์และเชื่อมต่อกับระบบ เพื่อทำให้เครื่องมือแพทย์สามารถสื่อสารกันเองได้ เพื่อพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)

7. ทำงานด้านการพัฒนาหรือการบริการจัดการการใช้งาน การกำกับควบคุม การจำหน่ายหรือเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับระบบวิศวกรรมคลินิก (Clinical Engineering) ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์และ ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ในสถานพยาบาล การบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลให้มีความพอเพียงได้มาตรฐาน และพร้อมใช้การประเมินเทคโนโลยีเพื่อเลือกใช้ เพื่อกำจัดทิ้ง รวมทั้งการควบคุมการผลิตเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

8. ทำงานเป็นวิศวกรคลินิกในโรงพยาบาลที่ทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่ระดับขั้นตอนการประเมินเทคโนโลยี การจัดซื้อ การติดตั้ง การดูแลบำรุงรักษา การใช้งาน ตลอดถึงการกำจัดทิ้ง

\