เลิกขายสดหันมาแปรรูปแทน! ผลไม้ไทยปรับกลยุทธ์ รุกตลาดโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 

เกษตรกรไทยต้องรู้ เลิกขายสดแล้วหันมาแปรรูปดีกว่า! ผลไม้ไทยรุกตลาดโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปรับกลยุทธ์เป็นแปรรูป เข้าเทรนด์สุขภาพ 

ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปยังหลายประเทศขณะนี้ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่ก็อาจจะมีมุมให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการผลไม้ไทย ไม่ขายผลสด ใช้วิธีนำมาแปรรูป เน้นจุดเด่น เป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงผลิตด้วยกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน สะดวกในการรับประทาน และเก็บรักษา

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP  นำทีมผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยกว่า 70 ราย ร่วมเจรจาซื้อขายกับผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ 45 บริษัท จาก 13 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันยังได้จัดพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าจากสิงคโปร์และฮ่องกงในการซื้อขายสินค้าผลไม้สด  ผักสด และผลไม้อบแห้งต่างๆ กว่า 10,000 ตัน รวมมูลค่าซื้อขายกว่า 1,095 ล้านบาทด้วย เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมาจำนวนมากในช่วงฤดูกาลผลไม้ในที่จะถึง 

โดยหนึ่งในบริษัทคู่ค้าที่ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกันนั้น คือ บริษัท สวีต บี ฟาร์ม จำกัด ร่วมกับ บริษัท เลิฟ ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ลงนามความตกลงกับ บริษัท ยูนิฟายด์ อินเวสท์เมนต์ แอนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยสู่ประเทศสิงคโปร์

มร.พี เอช โลว ผู้บริหารจาก บริษัท ยูนิฟายด์ อินเวสท์เมนต์ แอนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ยูนิฟายด์ อินเวสท์เมนต์ แอนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยรวมถึงผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปและของทานเล่นประเภทต่างๆ  จัดจำหน่ายสินค้าในสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

“แนวโน้มของตลาดผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ ผู้บริโภคเน้นด้านสุขภาพ บริโภคน้ำตาลและความหวานที่ลดลง  สถานการณ์ด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ มองว่าแม้ผู้บริโภคบางส่วนจะลดการออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปยังมีลู่ทางที่สามารถจัดจำหน่ายได้ทางแพลตฟอร์มออนไลน์  ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมองเห็นถึงโอกาสในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงผลไม้สดจากประเทศไทยอีกด้วย อาทิ มะม่วง ลำไยอบแห้ง หรือสับปะรด” 

โดยบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) นำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปกับบริษัท สวีต บี ฟาร์ม จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ “บ้านมะขาม” และบริษัท เลิฟ ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป      แบรนด์ ”เลิฟฟาร์ม” ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเป็นมูลค่ารวม 500,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15.8 ล้านบาท) ทั้งนี้ ทางบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ประเภทมะขามจากประเทศไทย เนื่องจากมะขามนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่เน้นรสหวานจัด และยังสนใจการพัฒนาผลิต ภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ อาทิ แยมมะขาม และน้ำพริกมะขาม ขณะเดียวกันยังได้เริ่มทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์แบรนด์เลิฟฟาร์มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พร้อมเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าสินค้าจากเลิฟฟาร์มสู่สิงคโปร์ด้วย

ด้านผู้ประกอบการจากประเทศไทย นางสาวอุบลรัตน์  โฆวงศ์ประเสริฐ รองประธานฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สวีต บี ฟาร์ม จำกัด และผู้ก่อตั้งบริษัท เลิฟฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันมีผลกระทบบ้างในส่วนของตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน เนื่องจากเป็นตลาดหลัก แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ อย่างต่อเนื่องแม้ว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

“ผลไม้แปรรูปไทยยังคงมีศักยภาพเติบโตในตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นผู้ผลิตผลไม้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก และมีผลไม้ขึ้นชื่อหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลำไย ทำให้ตลาดผลไม้แปรรูปจะยังคงเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งด้วยความเชี่ยวชาญและความหลากหลายของกระบวนการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบกรอบ แบบนิ่ม ไปจนถึงแบบที่ผู้บริโภคสามารถเติมน้ำเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีรสชาติเหมือนผลไม้สด ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์บ้านมะขาม มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศยาวนานกว่า 10 ปี ส่วนผลิตภัณฑ์ของเลิฟฟาร์มนั้น เริ่มส่งออกตั้งแต่ปีแรกที่แบรนด์ก่อตั้งขึ้น

นางสาวอุบลรัตน์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์มีมากขึ้น และมองหาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆ ทดแทน เช่นวัตถุดิบที่ใช้พืชหรือผลไม้ในการประกอบอาหาร

อย่างไรก็ตาม จากกระแสการตื่นตัวในด้านสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ ทางผู้ผลิตสินค้าผลไม้แปรรูปอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อลดปริมาณน้ำตาลและความหวานลง และสร้างการรับรู้ให้กับตลาดผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ากระบวนการผลิตผลไม้แปรรูปนั้นมีการใช้วัตถุดิบประเภทน้ำตาลในปริมาณที่ค่อนข้างสูง เช่น กระบวนการแช่ในไซรัปให้น้ำตาลไปแทนที่น้ำ เพื่อเป็นการถนอมให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น