เจ้าของร้านกาแฟ ผุดไอเดีย “ใช้รอกรับเงิน-ส่งของ” เว้นระยะ-ลดการแพร่เชื้อโควิด-19

เจ้าของร้านกาแฟ ผุดไอเดีย “ใช้รอกรับเงิน-ส่งของ” เว้นระยะ-ลดการแพร่เชื้อโควิด-19

เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียล เมื่อร้านกาแฟแห่งหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปิ๊งไอเดียปรับตัวรับมือภาวะคนไม่กล้าออกจากบ้าน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการใช้หลัก Social Distancing ในการบริการให้กับลูกค้าผ่าน “รอก”

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” จึงลงพื้นที่ไปพูดคุยกับ คุณอาร์ท-อภิรักษ์ ฉ่ำรักษ์สินธุ์ และ คุณเบ๊นซ์-กุลภา สงวนเกียรติ สองสามีภรรยาผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ร้าน “Art of Coffee” เกี่ยวกับลักษณะการให้บริการดังกล่าว โดยคุณอาร์ท เล่าให้ฟังว่า ร้านกาแฟแห่งนี้เปิดให้บริการภายในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากว่า 12 ปีแล้ว มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 สาขา โดยสาขาแรก เปิดให้บริการอยู่ที่อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1 และเป็นสาขาที่ให้บริการลูกค้าแบบ Social Distancing ผ่านรอกส่งของ

“ที่ร้านเรามีลูกค้าประจำและมีผู้สนับสนุนแวะเวียนมาซื้อกาแฟอยู่เรื่อยๆ แต่พอมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงแรกๆ ร้านได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะร้านเราเป็นร้านที่เปิดขายภายในมหาวิทยาลัย มันก็ยังมีคนมาทำงาน มาเรียนกันเข้ามาใช้บริการ แต่หลังจากมีนโยบายปิดสถานที่เสี่ยง งดกิจกรรม เลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ทางร้านก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจาก นศ.ไม่ได้มาเรียน แต่ก็ยังมีบุคลากร เจ้าหน้าที่มาทำงานอยู่ ในช่วง 3-4 วันแรก แต่หลายบริษัทเริ่มมีนโยบาย ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน วันนี้ (20 มี.ค.) จำนวนลูกค้าเราก็เลยน้อยลงไปอีก” คุณอาร์ท เล่าให้ฟังอย่างนั้น

เขาเล่าเพิ่มเติมว่า ทางร้านนำเอาหลัก Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างจากสังคม มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาและเป็นการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าที่ยังมาทำงานอยู่ กล้าที่จะลุกจากโต๊ะ เดินลงจากตึกมาซื้อกาแฟ

“โจทย์ของร้านเรา คือเราต้องการจะเว้นระยะของผู้ซื้อกับผู้ขายจากกันประมาณ 1 ถึง 2 เมตร เพื่อลดการแพร่ระบาด ทีนี้พอโจทย์มาแบบนี้ ก็เลยมาคิดกันว่า แล้วเราจะลำเลียงเครื่องดื่มให้ลูกค้ายังไง ก็เลยมาแก้โจทย์ด้วยการใช้ รอก ลำเลียงส่งของ ทั้งการรับส่งเงิน ซึ่งร้านเราก็มีการรับจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดอยู่แล้ว แต่วิธีนี้เป็นวิธีอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พกโทรศัพท์มา หรือว่าตั้งใจที่จะมาซื้อเงินสด” เจ้าของร้านคนเดิมว่าอย่างนั้น

เขายังเผยอีกว่า ในตอนแรก ทางร้านมีแผนจะใช้ระบบสายพานในการเสิร์ฟและรับเงิน แต่การทำระบบสายพานนั้นใช้ระยะเวลาในการทำค่อนข้างนาน ซึ่งคุณอาร์ท กล่าวว่า พอคิดได้ก็อยากจะลงมือทำเลย ซึ่งการใช้รอกสามารถเริ่มต้นได้เร็วที่สุด จึงไปหาซื้อวัสดุอุปกรณ์มาทำ

“จริงๆ เราไปหาซื้อสายพานนั่นแหละ แต่มันยังหาไม่ได้ อะไรเร็วสุดเราก็เอาอันนั้น ซึ่งมันก็คือ รอก เอาล้อรถเข็นมาตัดล้อยางออก แล้วเอาตัววงล้อมาคล้องกับเชือก ก็ใช้งานเป็นรอกได้แล้ว ซึ่งวิธีการทำก็เป็นความรู้ตั้งแต่เด็กๆ ที่มีสอนเรื่องรอกที่ใช้ในการผ่อนแรงสมัยประถม มัธยม ผมก็นำมาประยุกต์ใช้เอา ผมใช้โต๊ะเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นโต๊ะที่เรามีอยู่แล้ว เอากระป๋องนมข้นหวานมาต่อขาโต๊ะให้สูงพอๆ กับเคาน์เตอร์ แล้วเชือกก็ซื้อมาเมตรละ 5 บาท ล้อก็เอาเท่าที่หาได้ ราคาประมาณ 100-200 บาท ใช้อยู่ 2 ตัว ต่อ 1 ชุด ส่วนเชือกจะใช้ประมาณ 4 เมตรทั้งไปกลับ งบประมาณ 20 บาท รวมๆ แล้วลงทุนไม่เกิน 500 บาทด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้ทำโต๊ะใหม่เพิ่ม และก็มีตัวจับชิ้นงานสำหรับกลึงยึดในอุตสาหกรรมมาช่วย หรือจะใช้น็อตขันเอาก็ได้ ตามแต่สะดวก” คุณอาร์ท กล่าว

คุณอาร์ท ยังกล่าวอีกว่า จุดประสงค์หลักๆ ของร้าน คืออยากให้ลูกค้าที่ใช้บริการกันทุกวันได้รับรู้ข่าวสาร รู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น โดยระบบการรับเงิน-ส่งของโดยใช้รอก ใช้งานจริงมาได้ 4 วัน แต่ได้ผลตอบรับจากลูกค้าดีมาก เพราะลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

“มันอาจจะไม่ได้ป้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็พยายามทำให้เต็มที่ ผมว่ามันเป็นการประสบผลทางด้านจิตใจมากกว่า เมื่อมาทานกาแฟก็จะได้รับความโล่งใจกลับไป อย่างน้อยกาแฟผมอาจจะอร่อยขึ้นก็ได้ สิ่งที่ผมกังวลคือการปิดร้าน ถ้าสถานการณ์มันหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรายังมีลูกน้อง แต่ยังมีลูกค้าที่มาให้การสนับสนุน มาใช้บริการที่ร้านอยู่ ก็พยายามสู้และแก้ปัญหาไป อาจจะขายออนไลน์หรืออะไรก็ค่อยว่ากันอีกที”  คุณอาร์ท กล่าวทิ้งท้าย