ฮิลลารีลุ้นชัยชนะ ปธน.หญิงคนแรก มะกัน หย่อนบัตรเลือกตั้งผู้นำสหรัฐคึกคัก

Democratic presidential candidate Hillary Clinton, accompanied by her husband, former President Bill Clinton, left, smiles as she votes at Douglas G. Grafflin School in Chappaqua, N.Y., Tuesday, Nov. 8, 2016. At far left is senior aide Huma Abedin. (AP Photo/Andrew Harnik)

Democratic presidential candidate Hillary Clinton, accompanied by her husband, former President Bill Clinton, left, smiles as she votes at Douglas G. Grafflin School in Chappaqua, N.Y., Tuesday, Nov. 8, 2016. At far left is senior aide Huma Abedin. (AP Photo/Andrew Harnik)

“ฮิลลารี” ชิงเก้าอี้กับ “ทรัมป์” สุดเข้มข้น คาดคนอเมริกันออกมาใช้สิทธิกว่า 120 ล้านคน หมู่บ้าน ดิกซ์วิลล์ รัฐนิวแฮมเชอร์ เป็นคนกลุ่มแรกของประเทศที่ได้ใช้สิทธิก่อนพื้นที่อื่น “เชน คิมโบรห์” นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ ส่งคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าลงมาผ่านนาซ่า นักวิเคราะห์ไทยชี้ไม่ว่าฮิลลารีหรือทรัมป์ขึ้นมาก็กระทบกับโลกรวมทั้งไทยและอาเซียน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ในการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่าง นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรมต.ต่างประเทศ ผู้แทนพรรคเดโมแครต กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐี ผู้สร้างชื่อจากวงการอสังหาริมทรัพย์และบันเทิง ผู้แทนพรรครีพับลิกัน โดยคูหาเลือกตั้งเริ่มเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ตามเวลาสหรัฐ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดทั่วประเทศ คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า 120 ล้านคน โดยชาวหมู่บ้านดิกซ์วิลล์ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ยังคงเป็นคนกลุ่มแรกของประเทศที่ได้ใช้สิทธิก่อน

โดยก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งล่วงหน้า ชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 46 ล้านคน จำนวนนี้รวมถึงนายเชน คิมโบรห์ นักบินอวกาศที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส ส่งคะแนนของตัวเองผ่านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซ่า)

สำหรับบรรยากาศสุดท้ายก่อนการเปิดหีบลงคะแนน นายทรัมป์ปิดท้ายการเดินสายหาเสียงด้วยการบุกไปยังบรรดารัฐที่คะแนนนิยมตัวเองยังตามหลังนางคลินตันถึง 5 รัฐภายในวันเดียว รวมถึงรัฐนิวแฮมป์เชอร์ ฐานเสียงใหญ่ของพรรคเดโมแครต นายทรัมป์กล่าวว่า หากไม่เลือกตน สหรัฐจะถูกควบคุมต่อไปโดยชนชั้นปกครอง และระบบการเมืองที่คอร์รัปชั่น

ส่วนนางคลินตันเดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้งพร้อมนายบิล คลินตัน สามี ที่คูหาในโรงเรียนเมืองชัปปาคัว รัฐนิวยอร์ก หลังปิดท้ายการหาเสียงที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย มีผู้สนับสนุนมาร่วมฟังมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 คน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งกล่าวย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างเอกภาพกับความแตกแยก ระหว่างตนที่เป็นผู้นำซึ่งมีเสถียรภาพ กับนายทรัมป์ที่เป็นเหมือนปืนใหญ่หลวมๆ พร้อมจะทำให้ทุกอย่างพังทลาย ขณะเดียวกันประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา และนางมิเชล สตรีหมายเลขหนึ่ง ขึ้นเวทีหาเสียงด้วยเพื่อแสดงสัญลักษณ์ส่งไม้ต่อของผู้นำให้นางคลินตัน และมุ่งหวังสร้างประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันอย่างต่อเนื่องจากผู้นำผิวดำคนแรกไปสู่ผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ

ทั้งนี้การเลือกตั้งของสหรัฐ เป็นการตัดสินด้วยระบบคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กทอรัล โหวต (Electoral Vote) จาก 50 มลรัฐ ซึ่งก่อนการนับคะแนนมีการคาดหมายว่า นางคลินตันจะได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 268 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง ส่วนนายทรัมป์น่าจะได้ราว 204 เสียง ขณะที่คะแนนชี้ชะตาผู้ชนะอยู่ที่ 270 เสียง

มลรัฐที่สนับสนุนนางคลินตัน มีรัฐขนาดใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, นิวเจอร์ซีย์, ตามด้วยเพนซิลเวเนีย, อิลลินอยส์, แมสซาชูเซ็ตส์, เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน, แมรีแลนด์, คอนเน็กติกัต, เดลาแวร์, กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., ฮาวาย, เมน, โอเรกอน, โรดไอส์แลนด์, เวอร์มอนต์, วอชิงตัน, มินเนโซตา, นิวเม็ก ซิโก, โคโลราโด และมิชิแกน

ด้านนายทรัมป์ได้คะแนนจากประชาชนกลุ่มอนุรักษนิยม เช่น แอละแบมา, อแลสกา, อาร์คันซอ, ไอดาโฮ, อินเดียนา, แคนซัส, เคนตักกี, หลุยเซียนา, มิสซิสซิปปี, มิสซูรี, มอนทานา, เนบราสกา, นอร์ทดาโกตา, โอกลาโฮมา, เซาท์แคโรไลนา, เซาท์ดาโกตา, เทนเนสซี, เท็กซัส, เวสต์เวอร์จิเนีย และไวโอมิง นอกจากนี้น่าจะมีที่จอร์เจีย, ไอโอวา, บางส่วนของเมน, โอไฮโอ และยูทาห์ เป็นต้น ส่วนมลรัฐที่คะแนนทั้งสองสูสีจนยากจะคาดเดาผล ได้แก่ แอริโซนา, เนวาดา เขตการปกครองที่ 2 ของเนบราสกา, นิวแฮมป์เชอร์ และนอร์ทแคโรไลนา

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่า ต้องรอฟังผลความคืบหน้าเสียก่อน ตอนนี้อย่าเพิ่งไปยุ่งกับเขา เอาบ้านเราให้เรียบร้อยก่อน เพราะประเทศไทยคือประเทศไทยที่มีความภาคภูมิใจของเราอยู่แล้ว อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นหลักของอาเซียนอยู่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องดำเนินการด้านการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สมดุลกันให้ได้ ระหว่างประเทศภายในอาเซียน กับประเทศคู่ค้า คู่เจรจาทั้งหมด สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐบาลคิดมาตลอด และได้เห็นความก้าวหน้าของการค้า การลงทุน

“หลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเขาก็รอดูว่าประเทศไทยจะเรียบร้อยเมื่อใด จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ถือเป็นสิ่งสำคัญ และอยู่ที่เราทุกคนว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นเรื่องใดที่เป็นความขัดแย้งเราต้องแก้กันเองภายในให้ได้ก่อน โดยคนไทยทั้งหมดต้องช่วยกันไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย หรือด้วยความเป็นคนไทย สิ่งเหล่านี้ย่อมแก้ไขได้ ถ้าทุกคนช่วยกันแก้ไข”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนความเห็นของนักวิเคราะห์ในไทย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักการวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นโยบายการคลังของทรัมป์และคลินตันแตกต่างกันอยู่มาก โดยทรัมป์จะเน้นไปที่การลดภาษีบุคคลทุกระดับชนชั้นในสังคม สร้างแรงจูงใจในการทำงานและการว่าจ้างงานมากขึ้น ทั้งลดภาษีนิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 15 แต่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ธุรกิจของทรัมป์หรือไม่ ส่วนคลินตันจะสร้างความเท่าเทียมกันในระบบภาษีของสหรัฐ เรียกเก็บภาษีของคนร่ำรวยอัตราสูงขึ้น เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการช่วยเหลือพลเมืองในประเทศ แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของใครก็จะเพิ่มหนี้สาธารณะต่อปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) มากขึ้นทั้งสิ้น โดยนโยบายของทรัมป์จะเพิ่มหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 106 ส่วนของคลินตันจะเพิ่มถึง ร้อยละ 85

ดร.อมรเทพเชื่อว่า ในเดือนมี.ค.หลังประธานาธิบดีคนใหม่ดำรงตำแหน่ง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดานได้ เหมือนที่นายโอบามาเจรจาเพดานหนี้กับสภาคองเกรสไม่สำเร็จเมื่อเดือนต.ค.2556 จนประเทศเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์รัฐบาล (Government Shutdown) หากพรรคการเมืองทั้งสองไม่สามารถเจรจาได้ จะเกิดความเสี่ยงตลาดการเงินโลกมีสูง แล้วจะนำไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ได้แก่ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินเยน และทองคำ จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน ดร.อมรเทพกล่าวว่า อาจได้รับผลระทบการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลง จากนโยบายที่ทรัมป์และคลินตันไม่ต้องให้มีการค้าเสรีและลดพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประเทศอาเซียนที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากที่สุด คือ กัมพูชา และเวียดนาม ร้อยละ 20 ทั้งคู่ แต่ผลิตสินค้าสิ่งทอซึ่งสหรัฐไม่แข่งขัน จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมาก หรืออย่างประเทศไทยเองมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปสหรัฐร้อยละ 10 ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร สหรัฐยังต้องการสินค้าของเราอยู่

ส่วนผลกระทบทางอ้อมจะมาจากนโยบายกีดกันการค้าจากจีนของสหรัฐ เพราะประเทศอาเซียนส่งออกสินค้าไปจีนร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมด ในอนาคตอาเซียนมี แนวโน้มจะหันเหไปด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน ซึ่งจีนจะมีบทบาทมากขึ้น

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์