3 เอสเอ็มอีไทยดาวรุ่ง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ขายสินค้าผ่านร้านเซเว่นฯ

3 เอสเอ็มอีไทยดาวรุ่ง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เเนวคิดการพัฒนาธุรกิจให้สามารถก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จ หวังช่วยนักธุรกิจรุ่นน้อง ขายสินค้าผ่านร้านเซเว่นฯ และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ราบรื่น เติบโตอย่างยั่งยืน

คุณรัตนพงศ์ ศรีโรจน์นันท์ เจ้าของแบรนด์ Royal Beauty ที่สามารถสร้างยอดขายผลิตภัณฑ์ VitC ในเซเว่นอีเลฟเว่น มาแล้วมากกว่า 10 ล้านซอง เล่าว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ มาจาก 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  1. Counter Brand Image ทำให้ผลิตภัณฑ์มีภาพลักษณ์ที่ดี สวย หรู เช่น ซองต้องดูดี มีราคา เหมือนขายอยู่ในเคาน์เตอร์แบรนด์ เพิ่มระดับความพึงพอใจและไว้วางใจให้แก่ลูกค้า

2. Best Quality คุณภาพในสารสกัดทุกชนิด หรือองค์ประกอบทุกอย่าง คัดสรรของที่ดีที่สุดมาใส่ในซอง

3. Affordable Price ราคาจับต้องได้ โดยสินค้าหลักจะขายอยู่ที่ราคาประมาณ 39 บาท

4. แผนการตลาดที่เหมาะสมและยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงแคมเปญตลอดเวลา เลือกใช้เซเลบริตี้, Influencer, ไปจนถึง “ผู้บริโภคตัวจริง” มารีวิวสินค้าให้อย่างเหมาะสม

“เซเว่นอีเลฟเว่น เองก็มีบทบาทมากในการช่วยปรับปรุงและพัฒนาสินค้า ทั้งการมีทีมฝ่ายผลิตภัณฑ์และฝ่ายการตลาดมาช่วยบอก ช่วยเตือนว่าตอนนี้เทรนด์ไหนกำลังมา สารตัวไหนดี แพ็กเกจจิ้งของเราเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะขายดี และยังมีระบบแสดงยอดขายแบบเรียลไทม์ ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าวันไหนขายดี หรือขายไม่ดี คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากเซเว่นอีเลฟเว่น จึงมีค่ามากสำหรับเรา” คุณรัตนพงศ์ กล่าว

 

ด้าน คุณภักดี เดชจินดา เจ้าของกล้วยหอมทองไร่ภักดีด้รับรางวัล “เซเว่นอีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” สาขา SMEs สินค้าเกษตร เล่าว่า ในฐานะเอสเอ็มอีสินค้าเกษตร มีมาตรฐาน 3 ข้อที่สำคัญมาก คือ  1. น้ำหนักของกล้วย ต้องเกินเกณฑ์ขั้นต่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า
2. รสชาติ ต้องกำลังพอดี ไม่จืด ไม่หวานจนเกินไป
3. สีของกล้วย ที่ทำให้กล้วยดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้านการผลิต นอกเหนือจากที่ปลูกกล้วยเองแล้ว ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรในการรับซื้อและประกันราคาให้ ภายในช่วงเวลา 4 ปี สามารถเพิ่มยอดขายจาก 2,000 ลูก/วัน เป็น 16,000-18,000 ลูก/วัน มีสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 9 จังหวัด รวมกว่า 600 สาขา

ส่วน คุณนาตยา พูลทั่วญาติ ผู้จัดการสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว จำกัด ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมโครงการ SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่า ที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์เกือบ 80 ครอบครัว พยายามปรับตัว เปลี่ยนจาก “ผู้ล่า” มาสู่การเป็น “ผู้เลี้ยง” และเพิ่มบทบาทสู่การเป็น “ผู้แปรรูป” เพื่อลดปัญหาการขายสินค้าประมงโดยตรงที่ถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง จนประสบปัญหาขาดทุนอยู่เป็นประจำ โดยสหกรณ์จะเข้าไปมีบทบาทในการช่วยหาตลาด หาวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการเพาะเลี้ยง และหาแนวทางการลดต้นทุน ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในการเข้ามาให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร ปัจจุบัน สหกรณ์มีสินค้าประมงแปรรูปอยู่ 15 รายการ อาทิ คุกกี้ปลากะพง จ๊อทะเล

“สินค้าประมง เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แม้วันนี้การแปรรูปสินค้าประมงจะไม่ช่วยให้เราพลิกฟื้นจากขาดทุนสู่กำไรในทันที แต่ก็มีสัญญาณการฟื้นฟูที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดหวังว่าในอนาคต คุกกี้ปลากะพง ซึ่งเป็นสินค้าที่โดดเด่น ไม่มีกลิ่นคาว แต่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะสามารถเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดต่างๆ เพิ่มความยั่งยืนทางอาชีพ และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งให้ชาวสหกรณ์มีแรงพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ต่อไป” คุณนาตยา ระบุ

คุณชัยพร โสธรนพบุตร  เล่าว่า เป็นคู่ค้ากับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มานานกว่า 20 ปี ธุรกิจมะม่วงแปรรูป เริ่มต้นจากคุณพ่อ เป็นกิจการเล็กๆ ในครอบครัว ดองมะม่วงใส่โหลแก้วขายหน้าบ้านที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ  60 ปีที่แล้ว ต่อมาคุณพ่อได้เปลี่ยนระบบการผลิตมีมาตรฐาน นำมะม่วงมาบรรจุถุง ได้เครื่องหมาย GMP, HACCP และนำไปส่งขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ช่วงเวลานั้นร้านเซเว่นฯ มีเพียง 80 สาขาเท่านั้น

“หลังจากได้ส่งมะม่วงเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กิจการก็ลดความเสี่ยงเรื่องการกระจายสินค้า จากนั้นตั้งใจทำสินค้าให้ดี มีคุณภาพสูง รสชาติอร่อย ขายในราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันสินค้าส่งร้านเซเว่นฯ 10,000 สาขา”

การสร้างรายได้แต่ละปีนับร้อยล้านบาท  คุณชัยพร ระบุว่า สินค้าต้องอร่อยชนิดว่าลูกค้าไม่ต้องลุ้น ปัจจุบันปรับสูตรลดความหวานลง ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่สวยงามทันสมัย มาพร้อมกับความสะดวก มะม่วงแช่อิ่มถูกตัดเป็นชิ้นพอดีคำ กินง่าย มีไม้จิ้ม มีพริกเกลือ มุ่งขยายตลาดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ พลิกภาพมะม่วงแช่อิ่มจากเมนูโบราณสู่ขนมกินเล่นสำหรับคนทุกเพศวัย

“นอกจากรสชาติดี สินค้ามีมาตรฐานสูง เคล็บลับธุรกิจประเภทอาหาร คือ ออกงานแสดงสินค้าเป็นประจำ เพราะจะได้ไปเจอผู้บริโภคโดยตรง ได้รับฟังเสียงจากลูกค้านำมาปรับปรุง ซึ่งการออกบู๊ธเเต่ละครั้งอาจจะขาดทุน แต่เป็นสิ่งจำเป็น”