สติมา ปัญญาเกิด บนทางสายกลาง! ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19

สติมา ปัญญาเกิด บนทางสายกลาง! ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์มืออาชีพ ผู้ก่อตั้งโครงการ พอแล้วดี The Creator ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแกนหลักในการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19 ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤต COVID-19

ห่วงที่ 1 : การรู้จักตน ประมาณตน

– หากเป็นธุรกิจที่มีการสำรวจตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำธุรกิจอย่างมีสติ มีจุดยืน (Brand Positioning) การปรับตัว ปรับการผลิต ปรับการตลาด ปรับ Supply Chain ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างแน่นอน

– สำหรับคนที่ไม่เคยใส่ใจวิเคราะห์ตัวเองเลย เอาแต่ตะลุยทำเงิน โดยไม่เคยสะสมคุณค่า ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่ควรจะคิดทำ ง่ายสุดคือทำ SWOT ไม่คิดจะทำตอนนี้ ก็อาจจะไม่มีเวลาให้ทำอีกแล้ว เริ่มจากตรงนี้ก่อน เอากระดุมเม็ดแรกให้ใช่ก่อน จะได้ง่ายขึ้น

ไม่เริ่มจากการรู้จักตัวเอง รู้จักธุรกิจ รู้จักจุดแข็งจุดอ่อน ต่อให้มีโอกาส ก็คงกำหนดอนาคตของธุรกิจยาก ต่อให้เห็นอุปสรรค ก็คงไม่สู้แต่ใช้เป็นข้ออ้างในการยอมแพ้…วิเคราะห์ธุรกิจให้ถ่องแท้ อย่างคนที่มีองค์ความรู้ วาระนี้…มีผู้นำที่ดี ก็เสมือนมีแม่ทัพ แต่ต้องเป็นผู้นำที่เข้าใจคำว่า ส่วนรวมและการเสียสละ (ไปหาอ่านได้ใน ทศพิธราชธรรม ค่ะ)

ห่วงที่ 2 : มีเหตุมีผล

การทำธุรกิจ ไม่มีวันหยุด (เพราะดอกเบี้ยไม่ได้หยุดตาม) เหมือนเกิดมาแล้ว ต้องดำรงอยู่ อากาศจะน้อย ฝุ่นจะเยอะ ก็ต้องหายใจเข้าหายใจออก มีเหตุมีผล แปลว่า ต้องมีการวางแผน ทั้งระยะใกล้-ให้รอด และระยะไกล-ให้อยู่ต่อ ในการวางแผนนั้น จะรู้จักแค่ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าใจคำว่า ผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่จะเกิดทั้งแต่ตน และคนอื่น เช่น ถ้ายังผลิตเท่าเดิม จะขายยังไง เพราะคนจะเดินทางน้อยลง ถ้าผลิตน้อยลง ลูกน้องพนักงานจะดูแลยังไง ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าได้นั่งคิดวิเคราะห์ ถึงเหตุถึงผล อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด (เพราะอาจจะไม่มี) แต่ดีกว่าจะมานั่งรอโชคชะตา รอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ดังนั้นช่วยกันคิดเลยว่า COVID-19 สามารถทำให้เกิดกี่เหตุการณ์ต่อธุรกิจเรา และในแต่ละเหตุ จะส่งผลอะไรบ้าง สามารถมีการตั้งรับได้แบบไหนบ้าง จะรู้ว่าการตั้งรับแบบไหนน่าจะเหมาะสมกับเรา คือ กลับไปดูข้อ 1 นะคะ จะได้รู้ทั้ง Strength และ Weakness

ห่วงที่ 3 : มีภูมิคุ้มกัน

คนทำธุรกิจที่ไม่เอาความโลภนำ ไม่เอาความกร่างมานำความเก่ง มีการวิเคราะห์ตัวเองตลอดเวลา จะรู้จักคำว่า การบริหารความเสี่ยง จะลงทุน จะบริหารจัดการก็จะทำอย่างมีเหตุมีผล จะรู้ว่าอะไรควรใช้ อะไรควรเก็บ ไม่ทำอะไรเกินตัว คิดได้ทั้งระยะใกล้ ระยะไกล เอาง่ายๆ ว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ก็คือ ความรักที่พนักงานให้เรานี่แหละ ! ถามตัวเองเลยว่า มีบ้างไหม บริษัทไหน องค์การไหน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าพนักงานสามัคคีรักองค์กร ทุกคนจะพร้อมเสียสละ พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน อาจจะไม่ต้องเอ่ยปากขอเลย แต่พนักงานพร้อมทำให้ อีกภูมิคุ้มกันที่สำคัญก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า Brand Equity อธิบายง่ายๆ ว่า มันเป็นบุญบารมีที่สะสมมา เวลาชีวิตยากลำบากเพราะกรรมที่สร้างมา ณ เวลานี้…บุญเก่านี่แหละที่จะช่วยให้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ดีกว่า เร็วกว่า

ในการสู้กับ COVID-19 นั้น หลังจากวางแผนแล้วด้วยความเข้าใจในห่วงที่ 2 ก็ต้องใช้ห่วงที่ 3 เป็นตัวทบทวน และมีแผนรองรับความล้มเหลวไว้ด้วย คือ คิดให้รอบที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล

ทั้งหมดนี้ ต้องทำภายใต้ 2 เงื่อนไข

  1. เงื่อนไขความรู้

อันนี้สำคัญมากๆ เลย โดยเฉพาะกับภาวะที่ข้อมูลล้นหลาม ต้องตั้งสติให้ได้ว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง หาความรู้จากแหล่งที่เราเชื่อถือได้ ไม่ใช่เอาแต่ตื่นตูมกับข่าวลือ COVID-19 เป็นเรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยี ก็ทำให้เราเสาะแสวงหาความรู้ได้ง่ายขึ้น…ย้ำว่า ต้องรู้ให้รอบ ด้วยนะคะ อ่านให้ได้เรื่อง ฟังให้ได้ประเด็น เอาว่า เรื่องความรู้ ไม่น่าจะต้องพูดเยอะ เพราะทุกคนน่าจะเข้าใจดีว่า มันสำคัญขนาดไหน เรื่อง COVID-19 เนี่ยะ รู้น้อย ปิดหู ปิดตา จะนำพาไปสู่ การตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีภูมิคุ้มกัน

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ อย่าเอาเงื่อนไขว่า ยังไม่มีความรู้ที่เป็นจริงแน่นอน มาเป็นข้ออ้างของการไม่ขยับทำอะไรด้วยนะคะ

  1. เงื่อนไขคุณธรรม

ในวาระนี้ คำว่า คุณธรรม จะนำพาไปสู่คำว่า จริยธรรม ที่จะส่งผลต่อ มนุษยธรรม (คือต่อให้ยังไม่รู้ว่า เราจะเป็นพาหะไหม แต่ถ้ามี จริยธรรม เราก็จะสงวนตัว มีความรับผิดชอบ ไม่ออกไปสร้างความเสี่ยงเพิ่มให้กับสังคม)

บรรดาพวกบริษัท คนที่ถือโอกาสกักตุนหน้ากาก ขึ้นราคา ขโมยของไปขาย อย่าหวังว่า จะไม่โดนสาปแช่ง ใครที่ยังคบค้าทำธุรกิจ ทำมาหากินกับคนประเภทนี้…ก็แปลว่า เลวร้ายพอกัน

COVID-19 คือ โอกาสของการแบ่งปัน ธุรกิจทำได้เลย หากใครไม่สามารถเอาอะไรไปแบ่งปันได้ สิ่งที่ง่ายที่สุด ที่ทำได้ คือ แสดงความซื่อสัตย์ เปิดเผยทุกข้อมูล อย่าหลอกพนักงาน อย่าหลอกผู้บริโภค ความจริงเท่านั้น จะช่วยให้เราทุกคนร่วมวางแผนต่อสู้กันได้

ทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข…อยู่ภายใต้ “ทางสายกลาง” นะคะ คิดให้สมดุล คิดให้สมควร ไม่ใช่ คิดแต่การรู้จักตน จนไม่นึกถึงใคร หรือว่า จะสร้างภูมิคุ้มกัน กลัวทุกเรื่องจนไม่กล้าขยับ หรือว่า จะหาแต่ความรู้จนละเลยการวางแผน

…สติมา…ปัญญาเกิด…บนทางสายกลาง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้…ไม่ได้จะอวดเก่ง อวดรู้ใดๆ แต่เป็นการแบ่งปันแนวคิด ตัวเองไม่ได้ทำธุรกิจขนาดใหญ่ใดๆ เป็นเพียงที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ที่มีความเชื่อมั่นในแนวคิดของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เรามีคนที่เชื่อเราและนำแนวคิดนี้ไปใช้ แล้วโทรมาแบ่งปันเรื่องราว เราอาจจะช่วยองค์กรใหญ่ๆ ไม่ได้มาก (อย่าถามว่า ทำไม?) แต่การช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถฟันฝ่าวิกฤตไปได้อย่างพอเพียงสง่างาม คือสิ่งที่เราภูมิใจ ไม่ได้ภูมิใจว่า เราเก่ง แต่ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ที่ได้เรียนรู้ ศาสตร์พระราชา แล้วมีโอกาสนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม”