จากสาวโรงงาน สู่ “ผู้พิพากษา” อาชีพทรงเกียรติ ได้มาเพราะความพยายาม

จากสาวโรงงาน สู่ “ผู้พิพากษา” อาชีพทรงเกียรติ ได้มาเพราะความพยายาม

 

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ปรึกษาทนายความ ได้แชร์บทความเกี่ยวกับเส้นทางการเป็นผู้พิพากษา ที่กว่าจะก้าวสู้อาชีพอันเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ต้องใช้ความเพียรพยายามและอุทิศตนเพียงใด โดยเรื่องราวนี้ เป็นเรื่องของผู้พิพากษาหญิงท่านหนึ่ง คือ คุณลัดดาวรรณ หลวงอาจ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยไปออกอากาศรายการเจาะใจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 โดยเธอเล่าถึงเส้นทางชีวิตในการเป็นผู้พิพากษาไว้ว่า

เธอเป็นเกิดและเติบโตใน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่บ้านยึดอาชีพทำไร่ข้าวโพดอยู่บนภูเขา คนในหมู่บ้านไม่ค่อยได้เรียนหนังสือกัน แต่ตัวเธอเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และฟังรายการวิทยุมาตั้งแต่เล็กๆเมื่อเรียนจบชั้น ป.6 พ่อแม่ไม่ให้เธอเรียนต่อ เพราะต้องมาช่วยที่บ้านทำงาน แต่ด้วยความใฝ่เรียน เธอจึงขอร้องจนที่บ้านอนุญาตให้เรียนต่อ เธอจึงได้เรียนกศน.ทางไกล  ที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยต้องเดินทางจากหมู่บ้านไป 3 กิโลเมตร ขึ้นรถประจำทางไปที่หล่มเก่าเพื่อไปเรียนอีก 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเรียนอยู่ 1 ปี เธอก็ได้วุฒิ ม.3 มากอดสมใจ

“พอเรียนจบ ดิฉันก็อยากไปหางานทำที่กรุงเทพฯ และอยากเรียนหนังสือต่อ ก็ไปขอที่บ้านและรับปากว่าจะส่งเงินมาให้พ่อแม่ทุกเดือน ก็เริ่มจากไปหางานที่สำนักงานจัดหางาน อำเภอด่านซ้าย เพื่อเข้ามาทำงานที่โรงงานปลาทูน่ากระป๋อง ในจังหวัดนครปฐม โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานขูดปลา ยืนทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ทำงานไปพร้อมๆกับการเรียน กศน.ด้วยตัวเอง ก็เลือกเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ เวลาว่างทั้งหมด ก็ใช้ไปกับการอ่านหนังสือ ถ้าทำงานมาเหนื่อยๆ พอได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกมีพลัง เหมือนมีโลกส่วนตัวของตัวเอง เวลาหาเงินได้ก็จะส่งให้พ่อแม่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด” คุณลัดดาวรรณ กล่าว

เธอเล่าด้วยว่า บางครั้งเธอเกิดรู้สึกท้อ เรียนจบ กศน.แล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ คิดกับตัวเองว่า คนที่จบปริญญาตรียังมีตกงานเลย เธอจึงมีความคิดที่อยากเรียนจบปริญญาตรี ในช่วงที่ท้อมากๆ ก็กลับบ้าน พอหายเหนื่อยก็เข้ามาในกรุงเทพฯ ทำงานก่อสร้าง,โรงงานอิเล็กทรอนิกส์, สมุทรปราการและโรงงานผลิตเครื่องแฟกซ์ ที่บางปะกง จนทำงานไปได้ระยะหนึ่ง เธอก็ตัดสินใจไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ตอนนั้นเธอคิดกับตัวเองอย่างหนัก ว่าคงเรียนสาขารัฐศาสตร์ไม่ได้ เพราะวิชาพื้นฐานเยอะ และเธอก็ไม่ได้เรียนวิชามัธยมพวกนี้ในระบบโรงเรียน คงเรียนตามเพื่อนไม่ทัน ส่วนคณะนิติศาสตร์ มีวิชาพื้นฐานน้อย วิชาหลักก็ไม่มีสอนในชั้นมัธยม ถ้ามาเริ่มต้นพร้อมกันกับคนอื่นๆ เธอคงพอเรียนได้ จึงเลือกเรียนที่คณะนี้ โดยปีแรก ลงทะเบียนเรียนตามวันเวลาที่ว่าง เพื่อจะได้ลางานมาเรียนให้น้อยที่สุด เธอกล่าวว่า บางครั้ง ลงทะเบียนเรียนสองวิชาที่สอบวันเดียวกันก็มี ผลสอบในปีหนึ่งออกมาเป็นที่น่าพอใจ สามารถสอบผ่านได้เป็นส่วนใหญ่

“พอเริ่มปีสอง วิชาเรียนเริ่มยากขึ้น คิดว่าการทำงานโรงงานหนักเกินไป และไม่เหมาะแก่การเรียน จึงตัดสินใจลาออกจากงานโรงงาน มาทำงานในร้านเซเว่นใกล้กับมหาวิทยาลัย ช่วงไหนที่เข้ากะดึกและกะบ่าย ก็จะหาโอกาสไปนั่งฟังคำบรรยายในชั้นเรียน ชีวิตตอนนั้น ไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่คนเดียว เลยเข้าไปฝึกอบรมการพูด ที่ศูนย์พัฒนาการพูดรามคำแหง ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และก็ทำให้ดิฉันรู้สึกไม่อยากจะทำงานอีกต่อไป ประกอบกับช่วงนั้นมีโครงการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจึงตัดสินใจลาออกและมากู้เงินเรียนแทน” ผู้พิพากษาท่านเดิม กล่าว

เธอเล่าต่อว่า ในสมัยเรียนที่รามคำแหง ได้มีโอกาสเรียนกับผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้จุดประกายความฝันทำให้อยากเป็นผู้พิพากษา โดยท่านบอกไว้ว่า การเป็นผู้พิพากษาต้องใช้ความสามารถเท่านั้น ไม่มีการใช้เส้นสาย และการเลื่อนตำแหน่งก็เป็นไปตามระบบอาวุโส จากนั้นเธอจึงตั้งใจเข้าเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา ได้อะไรจากที่อาจารย์ที่สอนมาเยอะมาก พอเรียนเสร็จก็ไปอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ ใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี ก็ไปสอบเนติบัณฑิตไทย โดยใช้เวลา 1 ปี

“ถ้าถามว่ามีเคล็ดลับอะไรในการเรียน นักศึกษารามคำแหงรู้ดีว่า เราต้องฝึกทำข้อสอบเก่า ฝึกเขียนข้อสอบกฎหมาย สมองเรามี 2 ส่วน คือ ส่วนถ่ายทอดข้อมูลกับรับข้อมูล ถ้าอ่านอย่างเดียวไม่เคยฝึกถ่ายทอดสมองก็จะวนไปวนมา ก็จะสอบไม่ผ่าน และหลังจากที่สอบเนติบัณฑิตไทยได้แล้ว ก็เข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปพร้อมกับการสอบผู้พิพากษา ซึ่งดิฉันก็ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วยการตื่นตี 4 มานั่งสมาธิ-สวดมนต์ทุกวันอ่านหนังสือทุกครั้งก็ใช้สมาธิ อ่านให้เข้าใจ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ่ายทอดออกมาสั้นกระชับได้ใจความ บางครั้งก็คิดว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา ต่อให้เราเตรียมตัวแค่ไหนก็อาจจะมีผิดพลาดได้ ตอนที่สอบผู้พิพากษา ทุกคนที่สอบจะต้องจบเนติบัณฑิตไทยและทำงานด้านกฎหมายมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ต้องมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสมัยที่สอบมีคนสอบประมาณ 6 พันคน คนที่สอบผ่านเกณฑ์มีแค่ 101 คน ดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น” คุณลัดดาวรรณ กล่าว

เธอยังกล่าวด้วยว่า เธอสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาได้ตั้งแต่อายุ 27 ปี โดยเริ่มจากการอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ประจำที่ศาลจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา 2 ปี และเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง 5 ปี รวมระยะเวลา 9 ปี จนมานั่งมาคิดอีกที ชีวิตก็เหมือนฝัน จากเด็กบ้านนอกแล้วกลายมาเป็นผู้พิพากษา เป็นชีวิตการทำงานที่มีความสุข เป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิต เพราะเกินกว่าที่เธอคาดหวังไว้มาก จากนี้ต่อไปเธอจึงตั้งใจจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนและบ้านเมือง

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เดินมาถึงตรงนี้ได้นั้น คือ ยึดมั่นในคำที่ว่า ‘ถ้าวันไหนทุกสิ่งเกิดผิดพลาด ใจที่ดีจะนำสิ่งนั้นกลับคืนมา’ มาถึงทุกวันนี้ได้ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้ ชีวิตต้องมีหวัง ถ้าเหนื่อยก็พัก พักแล้วเริ่มใหม่ ถ้าไม่ล้มเลิกวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมาย ทุกสิ่งอยู่ที่ใจถ้าใจเราสู้ก็จะไปต่อได้ ทุกครั้งที่ทุกอย่างไม่เป็นไปดังหวัง ก็จะบอกกับตัวเองว่า มันต้องมีวิธีการอื่นที่ให้เราเดินไปสู่ความสำเร็จได้ ทุกเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาไม่ว่าดีหรือร้ายก็สามารถเป็นครูสอนเราได้ ขอให้มองหาข้อดีในสิ่งที่เรามี นั่นคือ ‘ลมหายใจ’ ถ้าเรายังมีลมหายใจ เราก็ต้องมีหวังแล้วทำสิ่งนั้นต่อไป” คุณลัดดาวรรณ กล่าวทิ้งท้าย