ระดมสมองงัดสารพัดวิธี แก้ปัญหาราคาข้าว ถึงเวลาจริงจังอย่าทำแค่ไฟไหม้ฟาง

ประเด็นปัญหาราคาข้าวตกต่ำเป็นที่จับตาของทุกภาคส่วนอีกครั้ง หลังจากที่สมาคมโรงสีข้าวออกมาระบุว่าข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ตันละไม่ถึง 10,000 บาท

แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาอธิบายถึงสาเหตุของการตกต่ำของราคาข้าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงจะระบุว่า เพราะฝนดี (ขณะที่ไทยประสบปัญหาภัยแล้ง) ทำให้ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้น 2.4% สวนทางการบริโภคข้าวของประชากรโลกที่ลดลงตามการบริโภคอาหารพวกแป้งลดลง 1.5% และสต๊อกข้าวโลกเพิ่มขึ้น 4.3% ส่งผลต่อราคาข้าวโลก รวมถึงไทยที่ราคาปรับลดลง ด้านปริมาณข้าวหอมมะลิในประเทศ คาดเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตัน จาก 8 ล้านตันในปีที่แล้ว และคาดว่าข้าวนาปีจะเพิ่มเป็น 27 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 23 ล้านตัน และช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน มีฝนตกมาก ชาวนาเร่งเกี่ยวข้าว ทำให้ข้าวมีความชื้นสูงทำให้ราคายิ่งตกต่ำลง

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นว่า ราคาข้าวที่ลดลงมาจากผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาดโลก และคู่แข่งในการส่งออกข้าวของไทยก็ส่งออกข้าวได้ปริมาณมากและในราคาที่ต่ำกว่าของไทย และในประเทศมีผลผลิตข้าวหอมมะลิปีนี้ออกมากกว่าปีปกติ 20% จากฝนดี เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ค้าข้าวทั่วโลกต่างก็รู้ว่าผลผลิตของหลายประเทศออกมาพร้อมกัน ก็จะรอซื้อราคาที่ถูกที่สุด ส่วนจะมาบอกว่าผู้ค้าข้าวกดราคานั้นไม่เป็นความจริง การค้าข้าวก็เหมือนการซื้อหุ้น มีขึ้นๆ ลงๆ

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล เพราะความเดือดร้อนของชาวนามีมากเกินไป

จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ต้องรีบออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ทางประธาน นบข. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทิ้งระเบิดว่าเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเป็นเพราะโรงสีข้าวกับนักการเมืองฮั้วกันกดราคา จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทยถึงกับของขึ้นตัดสินใจลาออกยกชุด!!

โดยนายมานัส กิจประเสริฐ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่เพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระบอกว่า ราคาข้าวที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาข้าวในตลาดโลกที่ลดลงและผลผลิตข้าวออกมาปริมาณมาก ส่วนราคาที่เกษตรกรได้รับจะขึ้นอยู่กับความชื้นข้าว โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาตามคุณภาพข้าว โรงสีข้าวไม่สามารถจะกำหนดราคาข้าวสารได้เอง เมื่อแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารต้องขายข้าวสารผ่านพ่อค้า โดยที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายข้าวสาร เพื่อนำมาคำนวณกลับเป็นราคาข้าวเปลือก

สำหรับมาตรการที่ นบข.ออกมานั้น ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ (จำนำยุ้งฉาง) เป้าหมายเก็บข้าว 2 ล้านตัน ชาวนาจะได้รับเงินจากมาตรการรวม 11,525 บาทต่อตัน แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการจำนำยุ้งฉางนี้ ปรับเพิ่มราคารับจำนำ ทำให้ชาวนาจะได้เงินจากมาตรการนี้รวม 13,000 บาทต่อตัน เริ่มมาตรการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559- 30 เมษายน 2560 โดยมาตรการนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการของภาครัฐ

พาณิชย์เร่งยกระดับราคาข้าว

โดยมาตรการหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60 ซึ่งกำลังออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือน 2 เดือนนี้คือ มาตรการทั้งยกระดับราคาภายในประเทศ และผลักดันการส่งออก เช่น มาตรการระยะสั้น โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป้าหมายเก็บข้าว 8 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมายเก็บข้าว 2.5 ล้านตัน โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกและข้าวสารใน 42 จังหวัด 102 ครั้ง และขอความร่วมมือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รับซื้อข้าวหอมมะลิจากชาวนา เป้าหมาย 2 แสนตัน เป็นต้น

ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น นางอภิรดีบอกว่า กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว อย่างการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบให้เป็นไปตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมุ่งเน้นให้การตลาดนำการผลิต วางแผนการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับปริมาณและลักษณะความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันรักษาตลาดเก่าส่งออกข้าวไว้และขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) อยู่ระหว่างการหารือ 5-6 ประเทศ และเอกชนต่อเอกชน (บีทูบี)

ขอความร่วมมือสมาคมข้าวถุงจัดส่งในราคาเดียวกันห้าง

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนกระตุ้นการบริโภคข้าวภายในประเทศ ด้วยการขอให้สมาคมข้าวถุงจัดส่งข้าวในราคาเดียวกับห้างค้าปลีกให้กับผู้ประกอบการนำไปเป็นของแถม พร้อมทั้งประสานสมาคมประกันวินาศภัยไทย สถานีน้ำมันเปิดพื้นที่ขายข้าว หาช่องทางการกระจายสินค้าใหม่ๆ ผ่านค้าปลีกที่มีสาขาทั่วโลกกระจายข้าวถุง และได้เชิญชวนให้ประชาชน องค์กรซื้อข้าวมอบเป็นของขวัญให้แก่กัน พร้อมกับหารือกระทรวงการคลังออกมาตรการพิเศษลดหย่อนด้านภาษีให้กับผู้ซื้อเพื่อจูงใจการซื้อข้าวเพิ่ม

“จากมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มปริมาณกินข้าว ส่งออก และดูดซับข้าวออกจากตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น โดยกำลังหารือกับผู้ส่งออกข้าวในการหาตลาดส่งออก และผลักดันส่งออกข้าวจากเดิม 9-9.5 ล้านตัน ให้ถึง 10 ล้านตัน มั่นใจปีนี้ส่งออกเกิน 9 ล้านตันแน่นอน”

เกษตรทำแผนระยะยาวผ่านนาแปลงใหญ่

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในระยะสั้นมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดเปิดจุดให้บริการจำหน่ายข้าวสารสู่ผู้บริโภค เพื่อกระจายผลผลิตข้าวสารจากเกษตรกรถึงประชาชนโดยตรง ส่วนมาตรการระยะยาว จะทำผ่านโครงการนาแปลงใหญ่ ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ลดต้นทุนการผลิต และสร้างอำนาจต่อรองให้แก่เกษตร ตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่นาแปลงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1,000 แปลง ในปี 2560 ข้อมูลวันที่ 7 กันยายน 2559 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 53,775 ราย ครอบคลุม 66 จังหวัด จำนวน 386 แปลง พื้นที่ 838,403 ไร่

ส่วนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นนั้น นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า จะลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ และปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของชาวนาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ ดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ เริ่มเดือนสิงหาคม 2559- กันยายน 2560 โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่

แม้มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวนาจะมีหลายมาตรการ แต่หลายโครงการก็เพิ่งเริ่มทำหรือทำได้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลผลิตข้าวบางส่วนออกมาก่อนแล้ว และราคาก็ลดลงต่ำเป็นที่เรียบร้อย ทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือชาวนา คือ การช่วยเหลือตัวเอง จึงมีชาวนาและกลุ่มชาวนา รวมถึงเครือข่าย เดินหน้าขายข้าวด้วยตัวเองส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ด้วยการขายข้าวสารบรรจุถุงทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป็นที่สนใจแก่สังคมในเวลานี้อย่างมาก

นายวิชัย ศรีนวกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หลังมีมาตรการจำนำยุ้งฉางพบว่าชาวนาชะลอขายเปลือกข้าวหอมมะลิกันบ้างแล้ว โดย 2-3 วันหลังออกมาตรการ ราคาข้าวหอมมะลิมีเสถียรภาพขึ้น ไม่อ่อนตัว เพราะชาวนาเริ่มชะลอขายข้าวหลังทราบมาตรการที่ชัดเจน และเริ่มมีโรงสีออกมารับซื้อมากขึ้น เมื่อชาวนาชะลอขายข้าว ผู้ซื้อก็จะเร่งซื้อ เชื่อว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะขยับขึ้น ส่วนจะขยับขึ้นเท่าไหร่ขึ้นกับราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกรับซื้อจากโรงสี ซึ่งราคาซื้อล่วงหน้าข้าวสารเดือนธันวาคมปีนี้อยู่ที่ตันละ 15,000 บาท

ขณะที่นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุผ่านบทความ “ทำไมราคาข้าวหอมมะลิลดฮวบ: ใครคือแพะ?” ตอนหนึ่งว่า ราคาส่งออกข้าวสารหอมมะลิเป็นราคาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ส่งออกข้าวไทยที่ไปเสนอขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ แล้วใช้เป็นฐานกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกในช่วงเก็บเกี่ยว ราคาล่วงหน้าเป็นราคาในอนาคตที่เกิดจากการคาดคะเนของพ่อค้าข้าวและโรงสี เกี่ยวกับความต้องการและผลผลิตของข้าวหอมมะลิในฤดูการผลิตใหม่ จึงมีพ่อค้าบางส่วนจะเก็งกำไรซื้อขายข้าวจากการคาดการณ์ราคาในอนาคตที่ส่งผลต่อราคาปัจจุบัน

“ตลาดข้าวไทยมีปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารการตลาดข้าว ทั้งราคาซื้อขายล่วงหน้า ปริมาณสต๊อกข้าวในคลังเอกชนและรัฐบาล ปริมาณความต้องการของตลาด และการพยากรณ์ผลผลิตข้าวของหน่วยงานรัฐที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังไม่มีการพยากรณ์ผลผลิตข้าวแยกตามชนิดข้าว และการไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือทำให้วงการค้าเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องเก็งกำไร หน้าที่สำคัญของรัฐ คือ การลงทุนพัฒนาระบบการพยากรณ์ผลผลิตและสต๊อกข้าวให้น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ตลาดมีข้อมูลถูกต้อง ลดความผันผวนจากการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจ กระบวนการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตสต๊อกข้าวและอุปสงค์ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะอยู่ตัว”

เกษตรลงสำรวจ18พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ

อย่างไรก็ตามล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นสำรวจปลูกข้าวหอมมะลิใน 18 จังหวัด เพื่อหาข้อมูลผลผลิตข้าวหอมมะลิทั้งประเทศว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตตามแผนข้าวครบวงจร ใช้ในการคำนวณต้นทุนเกษตรกรและกำไร เพื่อต้องการหาตัวเลขผลผลิตที่แท้จริงที่ทุกคนยอมรับ และนำมาใช้ประกอบการทำมาตรการจำนำยุ้งฉาง คาดว่าจะสรุปข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงได้ภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป

จะเห็นว่ามีหลายมาตรการระยะสั้นออกมาพยุงราคาข้าว ส่วนผลการดำเนินมาตรการออกมาเป็นอย่างไร คงต้องให้เวลาพิสูจน์ เช่นเดียวกับมาตรการระยะยาวที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าในการดูแลและรักษาเสถียรภาพข้าวทั้งในแง่ราคาและอาชีพของชาวนา คงต้องให้เวลาพิสูจน์เช่นกันว่าจะสามารถก้าวผ่านภาวะข้าวราคาตกต่ำที่เกิดในเกือบทุกรัฐบาลได้หรือไม่ ส่วนระยะใกล้นี้คาดการณ์ผลผลิตข้าวที่ชัดเจนและให้น่าเชื่อถือคงเป็นงานแรกๆ ที่ต้องก้าวให้ผ่าน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ชาวนาก็ต้องช่วยเหลือตัวเองในการที่จะลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่จะขายข้าวได้กำไรในอนาคต!

 

ที่มา มติชนออนไลน์