ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เอสเอ็มอีไทย ตบเท้ารับรางวัล “เซเว่นอีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” พร้อมแชร์เทคนิคขายของยังไงให้ยอดขายปังในร้านเซเว่นฯ
เอสเอ็มอีไทย 21 ราย ตบเท้าเข้ารับรางวัล “เซเว่นอีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” จัดโดย “ซีพี ออลล์” สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย และบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ทั้งนี้เพื่อเชิดชูเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ 10 ประเภท ในงาน “วันแห่งโอกาสดี @CP ALL 2020” หวังร่วมสร้างสรรค์และต่อยอดโอกาสให้เอสเอ็มอีหลากหลายกลุ่ม พร้อมจัดเสวนาถอดรหัสความสำเร็จแนะแนวทางสู่ความสำเร็จในการขายสินค้าผ่านร้านเซเว่นฯ และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง หนุนเอสเอ็มอีไทยเติบโตและสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า งานวันแห่งโอกาสดี @ CP ALL 2020 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างสรรค์และต่อยอดโอกาสให้เอสเอ็มอีหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มสินค้าชุมชน กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อเป็นต้นแบบเอสเอ็มอีไทย โดยในปีนี้ มีการแบ่งประเภทรางวัล ทั้งสิ้น 10 ประเภท รวมจำนวนเอสเอ็มอีที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับรางวัลจำนวน 21 รางวัล
สำหรับรายชื่อเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัล 10 ประเภท รวมจำนวน 21 รางวัล ประกอบด้วย
1. SMEs ยั่งยืน ได้แก่
– เฉาก๊วย “ปุ้น&เปา” จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชลกิจปทานผล
– ขนมหวาน “คุณเก๋” จาก บริษัท คุณเก๋ ขนมหวาน จำกัด
– ขนมหวาน “เจ้าจุก” จาก บริษัท เอ็นเอ็นซี.โปรดักส์ จำกัด
– สกินแคร์ “Nami” จาก บริษัท เค แอนด์ บี คอสเมติก จำกัด
2. SMEs ยอดเยี่ยม ได้แก่
– ยาและอาหารเสริมกลุ่มสมุนไพร “Handy Herb” จาก บริษัท แฮนดี้เฮลท์ จำกัด
– ผลิตภัณฑ์ “จุฬาเฮิร์บ” จาก บริษัท เจแอลซี กรุ๊ป จำกัด
3. SMEs ดาวรุ่ง ได้แก่
– ขนมหวาน “บ้านทองหยอด” จาก บริษัท บีทีวาย ฟู้ดส์ จำกัด
– ผลิตภัณฑ์ “รอยัลบิวตี้ คอลลาเจน” จาก บริษัท สหไทยพัฒนภัณฑ์ (ไลฟ์สตอรี่) จำกัด
4. SMEs สินค้าเกษตร ได้แก่
– ผลไม้ดอง “ศรีเมือง” จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเมือง 12490
– กล้วยหอมทอง จาก คุณภักดี เดชจินดา
5. SMEs เพื่อชุมชน ได้แก่
– นมถุง “หนองโพ” จาก สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
– กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ จาก บริษัท บานาน่าโซไซตี้ จำกัด
– หมวกผ้าและของที่ระลึก “เอทู” จาก บริษัท เอทู จำกัด
6. SMEs ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่
– เครื่องเขียน “KIAN DA” จาก บริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด
7. SMEs ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่
– ยาสมุนไพร “โบว์แดง” จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างขายยาห้องยาเภสัช
– อาหารเสริม สมุนไพร จาก บริษัท เฮิร์บ พลัส จำกัด
8. SMEs ยั่งยืนด้านพัฒนาอุปกรณ์และก่อสร้างร้านสาขา ได้แก่
– บริษัท โมดูล่าร์ คอมพาวด์ จำกัด
– บริษัท ซีเอช มอร์แกน จำกัด
9. SMEs ยั่งยืนด้านงานระบบวิศวกรรม ได้แก่
– บริษัท เก่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
– บริษัท คอมเรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
10. SMEs ยั่งยืนด้านงานบริการร้านสาขา ได้แก่
– บริษัท คิงส์ เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด
ภายในงาน “วันแห่งโอกาสดี @CP ALL 2020” ยังมีการจัดเสวนา ถอดรหัสความสำเร็จ การขายสิน ค้าผ่านร้านเซเว่นฯ และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง โดย 3 วิทยากร นายชัยพร โสธรนพบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด รายได้แต่ละปี 100 ล้านบาท นางประทิ่น นาคมิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยกรอบแก้วเมืองลุง และนายเฉลิมพงษ์ ศรีโรจนันท์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ครีมความงาม Royal Beauty
นายชัยพร โสธรนพบุตร เล่าว่า เป็นคู่ค้ากับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มานานกว่า 20 ปี ธุรกิจมะม่วงแปรรูป เริ่มต้นจากคุณพ่อ เป็นกิจการเล็กๆ ในครอบครัว ดองมะม่วงใส่โหลแก้วขายหน้าบ้านที่จัง หวัดฉะเชิงเทราเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ต่อมาคุณพ่อได้เปลี่ยนระบบการผลิตมีมาตรฐาน นำมะม่วงมาบรรจุถุง ได้เครื่องหมาย GMP, HACCP และนำไปส่งขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ช่วงเวลานั้นร้านเซเว่นฯ มีเพียง 80 สาขาเท่านั้น
“หลังจากได้ส่งมะม่วงเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กิจการก็ลดความเสี่ยงเรื่องการกระจายสินค้า จากนั้นตั้งใจทำสินค้าให้ดี มีคุณภาพสูง รสชาติอร่อย ขายในราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันสินค้าส่งร้านเซเว่นฯ 10,000 สาขา”
การสร้างรายได้แต่ละปีนับร้อยล้านบาท นายชัยพร ระบุว่า สินค้าต้องอร่อยชนิดว่าลูกค้าไม่ต้องลุ้น ปัจจุบันปรับสูตรลดความหวานลง ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่สวยงามทันสมัย มาพร้อมกับความสะ ดวก มะม่วงแช่อิ่มถูกตัดเป็นชิ้นพอดีคำ กินง่าย มีไม้จิ้ม มีพริกเกลือ มุ่งขยายตลาดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ พลิกภาพมะม่วงแช่อิ่มจากเมนูโบราณสู่ขนมกินเล่นสำหรับคนทุกเพศวัย
“นอกจากรสชาติดี สินค้ามีมาตรฐานสูง เคล็บลับธุรกิจประเภทอาหาร คือ ออกงานแสดงสินค้าเป็นประจำ เพราะจะได้ไปเจอผู้บริโภคโดยตรง ได้รับฟังเสียงจากลูกค้านำมาปรับปรุง ซึ่งการออกบู๊ธเเต่ละครั้งอาจจะขาดทุน แต่เป็นสิ่งจำเป็น”
นางประทิ่น นาคมิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยกรอบแก้วเมืองลุง เล่าว่า ส่งสินค้าเข้าร้านเซเว่นฯ เมื่อปี 2552 โดยได้รับความช่วยเหลือจากร้านเซเว่นฯ หลายอย่าง อาทิ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต หลังจากส่งสินค้าเข้าร้านเซเว่นฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มแม่บ้านก็ดีขึ้นตามลำดับ
“เดิมทีกลุ่มเรามีปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะการบริหารจัดการ เเละการทำตลาด ซึ่งได้รับคำแนะ นำจากร้านเซเว่นฯ ประกอบกับศึกษาดูงานเอง นำประสบการณ์เหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระทั่งได้มาตรฐานจาก (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โอท็อป 4 ดาว สำหรับผลิตภัณฑ์กล้วยเมืองลุง มีหลายประเภท อาทิ กล้วยม้วน กล้วยหั่นแว่นแบบสไลซ์ และกล้วยแบบแท่ง”
ด้าน นายเฉลิมพงษ์ ศรีโรจนันท์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ครีมความงาม Royal Beauty ที่มียอดจำหน่ายครีมซอง vit C กว่า 10 ล้านซอง กล่าวว่า หัวใจความสำเร็จของธุรกิจ ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย คือ 1. สินค้าภาพลักษณ์ต้องดูดี 2. คุณภาพต้องดี 3. ราคาเข้าถึงง่าย ปัจจุบันขายซองละ 39 บาท 4. ให้ลูกค้าเป็นพรีเซ็นเตอร์ 5. ทีมงานที่ดี
ด้าน ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. มีมาตรการสำคัญที่เรียกว่า MSME 2020 เน้นการส่งเสริม SMEs รูปแบบใหม่ ดังนี้
- การปรับสถานะกองทุนภาครัฐที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับ MSME ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
- พัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365)
3. ระบบคูปองเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน
4. พัฒนากลไกกลางในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ MSME
5. มาตรการ MSME ล้มแล้วลุก ลดอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจ
6. พัฒนาระบบประเมินศักยภาพ SME และฐานข้อมูล (SME Big Data)
7. พัฒนาระบบการให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานในการให้การส่งเสริม MSME
8. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ด้าน ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีนโยบายพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้แนวคิด “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ ดีพร้อม (DIProm)”
โดยการ “ปั้น” มีแนวทาง 3 ด้าน คือ 1. ปั้น เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม จากเกษตรดั้งเดิมสู่นักธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ 2. ปั้น เอสเอ็มอีบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา 3. ปั้น เอสเอ็มอี ให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอัจฉริยะในการทำธุรกิจ
ส่วนคำว่า “ปรุง” เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค
และสุดท้ายคือ การ “เปลี่ยน” วิธีการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีในทุก ๆ อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับซีพี ออลล์ในการมอบรางวัลครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ได้ช่วยเชิดชูเอสเอ็มอีหลากหลายกลุ่ม รวมไปถึงเอสเอ็มอีสินค้าเกษตร ให้มีความภาคภูมิใจ มีพื้นที่ในการเติบโต และกลายเป็นเอสเอ็มอีต้นแบบ เป็นแนวทางให้เอสเอ็มอีรายอื่นๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นเอสเอ็มอีที่ดีพร้อม สร้างรายได้กลับสู่ทั้งตัวเอง ชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากต่อไป