5 ข้อ ทำไม่ยาก! ลดต้นทุนอาหารโดยไม่กระทบคุณภาพ แถมสร้างกำไรให้สูงสุด

5 ข้อ ทำไม่ยาก! ลดต้นทุนอาหารโดยไม่กระทบคุณภาพ  แถมสร้างกำไรให้สูงสุด

เว็บไซต์ แม็คโครโฮเรก้า อคาเดมี แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญการทําธุรกิจอาหาร ที่พร้อมให้ความรู้ กับผู้ประกอบการสามารถไปพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้เติบโตและได้ไปต่อ เผยแพร่ข้อมูลน่าสนใจ เกี่ยวกับ  5 แนวทาง ในการลดต้นทุนอาหารโดยไม่กระทบคุณภาพ  ดังนี้

  1. ควบคุมของเสียจากการตัดแต่ง

มีร้านอาหารจำนวนไม่น้อย ต้องทิ้งกำไรลงถังขยะอย่างน่าเสียดาย จากการตัดแต่งวัตถุดิบ ฉะนั้นหากร้านไหนที่ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี อาจจะเจอสาเหตุต้นทุนสูงจากการตัดแต่งวัตถุดิบที่ไม่ได้ประสิทธิภาพก็ได้ ยกตัวอย่าง ผักบุ้งที่ซื้อมาเมื่อตัดรากออกแล้ว ตามปกติจะต้องใช้ได้ 90%  แต่หากพนักงานไม่มีประสิทธิภาพ อาจตัดแต่งเหลือใช้ได้จริงเพียง 70% หายไป 20% จึงส่งผลให้ต้นทุนอาหารสูง และกำไรหายไปด้วย

2. หาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ใหม่ๆ

การมีแหล่งวัตถุดิบ หรือซัพพลายเออร์ประจำแหล่งเดียวแม้จะดูเหมือนสะดวก แต่อาจทำให้เสียโอกาสในการเปรียบเทียบราคา หรือต่อรองราคาไป การมีแหล่งวัตถุดิบ หรือ ซัพพลายเออร์มากกว่า 1 แห่ง จะช่วยให้เรามีทางเลือกไม่เป็นของตายใคร อาจได้แหล่งวัตถุดิบที่ดีกว่า ถูกกว่า หรือเปรียบเทียบราคา รวมไปถึงต่อรองราคากับซัพพลายเออร์เจ้าเดิมได้อีกด้วย

3. ถ้าทำได้เลือกจ่ายเงินสด

การช่วยให้ได้ของถูกแต่คุณภาพดี แถมมีอำนาจต่อรองราคา คือ การจ่ายเงินสด ซึ่งมักไม่ค่อยมีใครทำ แต่โปรดจำไว้ว่า การซื้อของโดยจ่ายเงินสดใครๆ ก็ชอบ และพร้อมจะจัดออฟชั่นพิเศษๆ ให้เป็นกรณีเฉพาะ และการจ่ายด้วยเงินสดทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น

4. ปิดช่องโหว่การทุจริต

เคยคิดไหมว่า กุ้งที่เราซื้อมา 1,000 ตัว หากเมนูอาหารที่ร้าน 1 เสิร์ฟใส่กุ้ง 5 ตัว จะต้องขายได้ 200 จาน แต่…ขายได้จริง 200 จานไหม เคยตรวจเช็กหรือไม่ การที่ผู้ประกอบการละเลยจุดเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องของวัตถุดิบ อาจเปิดช่องทำให้เกิดการทุจริตได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นประจำคือการเช็กสต๊อกสม่ำเสมอ และนับยอดนับสต๊อกมาชนกับจำนวนการขายในแต่ละวัน วิธีนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกร้านอาหารต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงก็คือ วัตถุดิบเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาทำเป็นเมนูเสิร์ฟลูกค้า

5. ทำเมนูใหม่จากวัตถุดิบตัดแต่งหรือวัตถุดิบตามฤดูกาล

เศษเนื้อปลาแซลมอนที่ติดอยู่ตามกระดูก หากขูดออกมารวมกันแล้วให้เชฟคิดสูตรนำเศษเนื้อปลานั้นมาทำเป็นเมนู อย่างเช่น แซลมอนบอล นอกจากจะทำให้เศษวัตถุดิบเหลือทิ้ง กลายเป็นมีมูลค่าขึ้นมาแล้ว ยังสามารถกลายเป็นเมนูที่เพิ่มกำไรกับร้านได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการนำวัตถุดิบตามฤดูกาล มาคิดทำเป็นเมนูพิเศษก็จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบถูกลง แต่สร้างโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น