ไวรัสโควิด-19 ลามแล้ว! GDP ของ SMEs ไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวต่ำกว่าคาด

ไวรัสโควิด–19 ลามแล้ว! GDP ของ SMEs ไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวต่ำกว่าคาด

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของ SMEs ในรอบปี 2562 พบว่ามีมูลค่ารวม 75,477.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 และมีสัดส่วนการส่งออกของ SMEs ต่อการส่งออกรวมของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 30.6 เฉพาะเดือนธันวาคม 2562 มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 5,530 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมีปัจจัยบวกมาจากตลาดส่งออกสำคัญของ SMEs ส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.4 และ 10.1 ตามลำดับ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เพื่อทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน (สงครามการค้า) มีการขยายตัว เช่น เม็ดพลาสติก ทองแดงบริสุทธิ์ ยางนอกรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ อุปกรณ์ Solar cell เครื่องคำนวณและประมวลผล ท่อและข้อต่อ ตะปู หมุดที่ทำด้วยเหล็ก รวมทั้ง ฟูก ที่นอน และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เช่นเดียวกับตลาดในกลุ่ม EU ที่ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ส่วนตลาดในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น การส่งออกหดตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 5.9 และ 1.6 ตามลำดับ

และผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้คู่ค้าดังกล่าว ลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อไปผลิตและส่งออก รวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า สินค้าส่งออกสำคัญของ SMEs ที่ขยายตัวได้ดีในปี 2562 ได้แก่ กลุ่มผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และผลไม้แปรรูปต่างๆ ขยายตัวถึงร้อยละ 34.4 กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 13.2 กลุ่มเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 1.1 นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ อาหารแปรรูป เครื่องหนัง เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์ของ SMEs ในปี 2563 คาดว่าในช่วงไตรมาสแรก การส่งออกสินค้าบริการหรือการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (Covid-19) และการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร การขนส่ง ศิลปะนันทนาการ ของขวัญของชำร่วย ฯลฯ

ซึ่งจากข้อมูลของ สสว. พบว่า รายได้ของธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวทั้งประเทศ เกิดจาก SMEs คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อประมาณการ GDP ของ SMEs ในไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี ผลจากเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายลงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

กอรปกับ สสว. เตรียมดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุน SMEs ในการขยายช่องทางการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศในแถบเอเชียใต้ กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มแอฟริกา และกลุ่มยุโรปตะวันออก รวมถึงการดำเนินมาตรการสำคัญในการส่งเสริม SMEs ในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน SMEs รายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาความรู้ ทักษะและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด สนับสนุนช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อได้ โดยเชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะสามารถช่วยให้การส่งออกและสถานการณ์ SMEs โดยภาพรวมมีทิศทางการขยายตัวที่ยังคงเป็นบวกอยู่