“SMEs” โสมขาวอายุสั้น ไร้ทักษะแห่เปิด-หนี้พุ่ง

เศรษฐกิจ “เกาหลีใต้” ประเทศแห่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ทำให้หลายบริษัทเริ่มเลย์ออฟพนักงาน หรือให้ออกโดยสมัครใจพร้อมเงินชดเชย เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทให้อยู่รอด กระแสการเลย์ออฟที่ออกมาจำนวนมากนี้ ส่งผลให้เกาหลีใต้เผชิญ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจ” รูปแบบใหม่ นั่นคือการที่บรรดาอดีตลูกจ้างหันมาจับธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีทักษะมาก่อน ก่อให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่ไปไม่รอด และปิดตัวลงมากมายในช่วงที่ผ่านมา

“สถาบันบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก” ของเกาหลีใต้เปิดเผยตัวเลขว่า มีเพียง 30% ของธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นในปี 2551 สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องได้มากกว่า 5 ปี โดย 60% ดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 5 ปีก็ต้องปิดกิจการ สาเหตุเป็นเพราะบรรดาพนักงานที่ออกจากงานประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน อายุ 50-60 ปี ต้องการหางานที่จะสร้างรายได้เพื่อทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีเงินเก็บมากพอ แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจส่วนตัว

ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เผยว่า ภาระหนี้ของประชาชนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างบริษัท เพิ่มขึ้นมากถึง 9% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นเงินสูงสุดในประวัติการณ์ถึง 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากเพราะมีการกู้นอกระบบร่วมด้วย

“จุน ซัง อิน” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮงอิกกล่าวว่า “หลายคนที่เริ่มต้นธุรกิจเป็นวัยกลางคนซึ่งออกจากบริษัททั้งโดยสมัครใจและไม่ทันตั้งตัว ส่วนมากธุรกิจจะเจ๊งใน 1-2 ปี พวกเขาจะเผชิญหน้ากับความยากลำบากกว่าคนที่เป็นลูกจ้างบริษัทในช่วงเวลานี้ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว”

หลังจากธุรกิจปิดฉากลง เงินที่กู้ยืมมาจะตกเป็นภาระของ “ตัวบุคคล” ไม่ใช่ของบริษัท ซึ่งกลายเป็นหนี้ซึ่งคล้ายคลึงกับหนี้ครัวเรือนอย่างยิ่ง โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยในรายงานประจำเดือนตุลาคม 2559 ว่า อัตราส่วนระหว่างการกู้ยืมต่อรายได้หลังหักภาษี สำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว คิดเป็น 146% ขณะที่ลูกจ้างบริษัท สัดส่วนอยู่ที่ 96%

นอกจากนี้ ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 86,000 คน เนื่องจากความมั่นคงในการทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทลดลง และไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า และส่วนใหญ่หลังออกจากงานจะหันมาเปิดธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก

ผลสำรวจระบุว่า ส่วนใหญ่มักพบในจังหวัดคยองกี ใกล้ ๆ กรุงโซล และจังหวัดคยองซาน เมืองท่าซึ่งเป็นฐานของอู่ต่อเรือหลายบริษัท เช่น บริษัทแดวู และฮุนได เฮฟวี่ อินดัสตรี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง ทำให้มีการเลย์ออฟจำนวนมากโดยธุรกิจที่ได้รับความนิยมเปิดมากที่สุดคือ ร้านไก่ทอด ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมมากในหมู่คนเกาหลีใต้ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจยังไม่สูงมากนัก และการขายไก่ทอดไม่ต้องอาศัยทักษะอะไรมาก ส่งผลให้เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก และมีการปิดตัวลงมากที่สุด รองมาคือบาร์และร้านกาแฟ โดยพบว่าโดยเฉลี่ยธุรกิจมีอายุเพียง 2.1 ปี

“ชิน ฮยอง ยอล” หัวหน้าทีมวิเคราะห์ความมั่นคงทางการเงิน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ กล่าวว่า สถาบันการเงินมักคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อยเหล่านี้สูงกว่าภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวที่สร้างกำไรให้กับแบงก์ได้มากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำอธิบายว่าทำไมธุรกิจขนาดเล็กของเกาหลีใต้ ถึงปิดตัวลงในเวลาอันสั้นเป็นจำนวนมาก