น.ศ.พิษณุโลกประดิษฐ์เครื่องสีข้าวในบ้าน เสียบปลั๊กใช้ได้เลย

นักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก คิดค้นเครื่องสีข้าวในครัวเรือน ช่วยให้ประชาชนสีข้าวกินเองได้ โดยไม่เสียคุณค่าทางวิตามิน อีกทั้งยังได้จมูกข้าวและแกลบไปใช้ประโยชน์ ดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และในอนาคตสามารถต่อยอดเป็นเครื่องสีข้าวขนาดย่อมช่วยชาวนาสีขาวเอง

วันที่ 5 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วิทยาลัยเทคนิคสองแคว จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มอาชีวศึกษาจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 8 แห่งจัดงานประชารัฐร่วมพัฒนาสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ คนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2559 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้เป็นนักประดิษฐ์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ชุมชน และก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐ ซึ่งงานนี้มีผลงานเข้าร่วมกว่า 92 ผลงานและจะคัดเลือกให้เหลือ 39 ผลงานเพื่อนำไปประกวดแข่งขันในระดับภาคต่อไป

13-4-e1478320052233

ซึ่ง ดร.จีระพงษ์ หอมสุวรรณ ประธานอาชีวศึกษา จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาตรงนี้จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และจะทำให้เกิดความร่วมมือที่ทางภาคอุตสาหกรรมนำสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ไปต่อยอดสร้างเป็นเครื่องจักรในภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษา หมั่นคิดค้นสร้างนวัตกรรมออกมาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

สำหรับผลงานทั้ง 92 ชิ้นที่เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเครื่องสีข้าวในครัวเรือนที่เป็นผลงานของนักศึกษาและอาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก ซึ่งนายณัฐพงษ์ นุชพ่วง และนายวรวุธ ชุ่มอุรา 2 น.ศ.สารพัดช่างพิษณุโลก ปวส. ชั้นปีที่ 2 ช่างยานยนต์ ที่คิดค้นเครื่องสีข้าวครัวเรือน กล่าวว่า ที่คิดค้นขึ้นมาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนสามารถสีข้าวกินเองและนำส่วนที่เหลือทั้งจมูกข้าว แกลบ นำไปทำเป็นเลี้ยงสัตว์ได้หรือทำปุ๋ยให้ดอกไม้ อีกทั้งยังใช้งานง่าย เพียงเสียบปลั๊กและเทข้าวเปลือกลงไปเครื่องก็จะสีข้าวออกมา แยกแกลบและจมูกข้าวไว้ด้านล่าง ทั่วไปจะสี 2- 3 ครั้งก็จะได้ข้าวขาวที่ยังคงวิตามินอยู่ สำหรับเครื่องนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม ในการสีเมื่อทดสอบใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นที่ 12.1% ในอัตรา 1,000 กรัม จะได้ข้าวที่สีออกมา 582 กรัม เป็นข้าวหักและเปลือกข้าว 377 กรัม เวลาที่ใช้ในการสีข้าวอยู่ที่ 9 นาที เฉลี่ยความเร็วที่ 6.5 กิโลกรัม/ชั่วโมง

ด้าน อ.สาคร บุญแคล้ว อาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก กล่าวว่า เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบที่ทดลองทำ ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถสีข้าวให้เร็วขึ้น และให้ได้ข้าวเมล็ดมากขึ้น อีกทั้งอาจพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่จะสีข้าวเองได้ แต่ตอนนี้จุดมุ่งหมายคือประชาชนนำไปใช้สีข้าวทานในครัวเรือน สำหรับราคาเครื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท/เครื่อง แต่อย่างไรก็ต้องพัฒนาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด