สตาร์ตอัพไทย! ถ้าไม่มั่นใจอย่าทำ 3 ธุรกิจนี้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว

 

CIBA มธบ. เผยสตาร์ตอัพกว่า 90% ทั่วโลกล้มเหลว 3 อันดับแรก ด้านไอที ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม เหตุเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วและขาดประสบการณ์ แนะจะให้รอดต้องออกแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ 

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)  เปิดเผยว่า ธุรกิจ Startup เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่และมาแรงในยุคนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านไอที เช่น การคิดค้นแอพพลิเคชั่นต่างๆ แต่จากรายงานของ Worldwide Business startup by Moya k. ในเว็บไซต์ Moyak.com  ในปี 2019 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ตอัพทั่วโลก พบว่า ธุรกิจที่เกิดใหม่มีจำนวน 137,000 รายต่อวัน หรือประมาณ 50 ล้านรายต่อปี แต่มีอัตราการล้มเหลวถึง 90% มีเพียง 10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ  

ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ล้มเหลว 3 อันดับแรก มีดังนี้ 1. ธุรกิจด้านไอที 2. ธุรกิจด้านก่อสร้าง และ 3. ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม เหตุที่ธุรกิจด้านไอทีล้มเหลวเป็นอันดับแรก เนื่องจากมี Tech startup เกิดขึ้นมามากมาย แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว

สำหรับสตาร์ตอัพไทย สาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะด้านไอที เนื่องมาจากการขาดประสบการณ์ในการบริหารวางแผนการทำงานเพราะถึงแม้มีไอเดียแต่ขาดประสบการณ์ก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องมี 2 อย่างร่วมกัน รวมถึงความคล่องตัวเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไอเดียแนวคิดต้องตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันและเทรนด์ความต้องการในอนาคตข้างหน้าให้ได้ด้วย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขาดประสบการณ์ด้านสินค้า ความสามารถในการกำหนดราคา รวมถึงต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงเกินไป และเรื่องสิทธิประโยชน์ของภาษีที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน รวมถึงปัญหาหุ้นส่วนที่มีไอเดียสวนทางกัน

ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า เจ้าของธุรกิจ Startup ที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ต้องมองการบริหารความเสี่ยงหลายบริบท มีการวางแผนการตลาดที่ดี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเน้นการออกแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญต้องมี Venture Capital (VC) ที่ทุนหนาและเก่งด้านการบริหารมาช่วยธุรกิจให้โตขึ้นด้วย ทั้งนี้การนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์ความต้องการของคนในอนาคตก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวอยู่รอดได้ ท้ายที่สุดหากมีการระดมทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยและลดอัตราเสี่ยงในการปิดกิจการ

สำหรับธุรกิจ Startup ที่อยู่ในรูปแบบของการรวมกลุ่มของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กำหนด Ecosystem ระหว่างสถาบันการเงิน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับ Startup เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงให้นักศึกษาและ VC เข้าถึงกัน เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียทางธุรกิจและเกิดการร่วมลงทุนในที่สุด โดยในเบื้องต้นได้มีการร่วมลงทุนกันบ้างแล้วในส่วนของแอพพลิเคชั่นที่นักศึกษาของเราได้คิดค้นขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยค้นหางานที่ตรงกับทักษะของตนเองและความต้องการของผู้ประกอบการได้