อนุทิน นำทีมเก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทย คาด! ผลิตเป็นสารสกัดได้ 1.8 แสนขวด

อนุทิน นำทีมเก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทย คาด! ผลิตเป็นสารสกัดได้ 1.8 แสนขวด

ดอกกัญชาช่อดอกแรก – เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ภาพและข่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

นำทีม นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม, นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม, นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยช่อดอกแรก พร้อมปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เป็นต้นแบบใช้ในทางการแพทย์ในระดับครัวเรือน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์องค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยแม่โจ้

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือน (Indoor) แห่งแรกของอาเซียนจำนวน 12,000 ต้น ปลูกเมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งได้ทยอยเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้ง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีสารสำคัญ THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด  ส่งให้องค์การเภสัชกรรมสกัดเป็นยาสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ และวันนี้ยังได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทย ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาแห้งที่ปลูกโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ถูกจัดส่งตามแนวทางมาตรฐานการขนส่งที่ดี หรือจีดีพี  (GDP -Good Distribution Practice) และมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือจีเอสพี (GSP – Good Security Practice) มีการทวนสอบกลับได้ ตั้งแต่ปลายทางจนถึงต้นทาง ทั้งปริมาณ สภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัยระหว่างการขนส่ง มีระบบการบันทึกเพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางที่ขนส่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และผลิตต่อไป

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวครั้งนี้จะผลิตเป็นสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD เป็น 1 ต่อ 1 บรรจุขวดขนาด 5 ซีซี ได้ประมาณ 180,000 ขวด และจะประสานกับกรมการแพทย์เพื่อผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญ ตามความต้องการใช้กับผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย ด้วยกระบวนการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาตาม มาตรฐานทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี หรือจีซีพี (GCP-Good Clinical Practice) รวมถึงการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆ ในการสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิด CBD เด่น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ CBD ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

ที่มา  สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข