นักพยากรณ์ ศก. ชี้ “ฆ่าตัวตาย-อาชญากรรม” มาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ

นักพยากรณ์ ศก. ชี้ “ฆ่าตัวตาย-อาชญากรรม” มาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ

จากสภาวะสังคมในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีข่าวประชาชนฆ่าตัวตายให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สร้างความสะเทือนใจไม่น้อย ตลอดจนเกิดปัญหาอาชญากรรม เช่น เหตุการณ์ล่าสุด โจรบุกเดี่ยวปล้นร้านทองที่จังหวัดลพบุรี ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดเป็นคำถามว่า สภาวะเศรษฐกิจคือมูลเหตุที่ทำให้ “คนฆ่าตัวตาย และ ก่ออาชญากรรม” ใช่หรือไม่

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่พูดยาก เหตุการณ์เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถามว่าเกิดมากขึ้นหรือไม่ ต้องไปดูตัวเลขสถิติของตำรวจ แต่จากข่าวที่นำเสนอ จะเห็นว่าเกิดบ่อยมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าสถิติสูงขึ้น แต่เป็นเพราะ สื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอข่าวได้ดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนทำงานดีขึ้น อย่างพ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อเมื่อก่อนก็มี แต่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว เคยมีการทำสถิติว่า เมืองใหญ่มักจะมีอาชญากรรมมากกว่าเมืองเล็กๆ อย่างในกรุงเทพฯ มีข่าวอาชญากรรมมากกว่า เพราะเศรษฐกิจดีกว่าจังหวัดอื่น แล้วอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมาจากคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะการเล่นเกมของคนรุ่นใหม่มีผลทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นมั้ยก็ยากต่อการพิสูจน์”

ขณะเดียวกันการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มาจาก 3 สาเหตุ คือ 1. ผิดหวังในความรัก 2. ผลการเรียนไม่ดี และ 3. เป็นหนี้เป็นสิน เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจก็อาจจะมีผล แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข่าวเชิงลบเกิดจากสาเหตุใด ยังขาดการพิสูจน์

“มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบกับประชาชน ภัยแล้งก็เครียด ลูกป่วย ไม่มีเงินก็เครียด ทุกอย่างมีเหตุและผลร่วมกันหมด จึงไม่ใช่แค่สภาวะเศรษฐกิจเท่านั้นที่ทำให้เกิดเหตุฆ่าตัวตาย และปัญหาอาชญากรรม” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว