สสว. ฟุ้งปี 63 จีดีพี SMEs โต 3.5% เผย ความขัดแย้ง อิหร่าน-สหรัฐ กระทบส่งออกเล็กน้อย 

สสว. ฟุ้งปี 63 จีดีพี SMEs โต 3.5% เผย ความขัดแย้ง อิหร่าน-สหรัฐ กระทบส่งออกเล็กน้อย 

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ SMEs ปี 2562 ที่ผ่านมา ว่า มีจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs รวม 3,084,290 ราย เกิดการจ้างงานรวม 13,950,241 คน คิดเป็นร้อยละ 85.5 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ จากการวิเคราะห์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ปี 2562 โดยข้อมูลในรอบ 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 2.1

ส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ให้ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอียู โดย GDP SMEs ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 7.41 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 3.5-4.0

ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการปี 2562 ในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 พบว่า SMEs มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ รวม 63,359 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.43 กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 14,273 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.56 กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์

สำหรับแนวโน้มปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศ (GDP) จะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.7-3.2 ขณะที่การขยายตัวของ GDP SMEs อยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยว และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

ดร.วิมลกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินรวมกว่า 2,686 ล้านบาท โดย สสว.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ร่วมขับเคลื่อนกับ 23 หน่วยงาน จาก 9 กระทรวง 1 รัฐวิสาหกิจ ดำเนินโครงการร่วมกันไม่น้อยกว่า 17 โครงการ

อย่างไรก็ตาม ดร.วิมลกานต์ ได้เผยถึง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ ว่า มูลค่าการส่งออกของ SMEs ไปยังอิหร่านและกลุ่มประเทศในพื้นที่ใกล้เคียงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 68.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.10% ของมูลค่าการส่งออกของ SMEs ทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ คือ กลุ่มไม้และของทำด้วยไม้ กลุ่มพืชผัก และกลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ แต่คาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว น่าจะส่งผลกับผู้ส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับเล็กน้อย

นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งในส่วนการผลิตวัตถุดิบ และในการขนส่งสินค้า สถานการณ์ความตึงเครียดจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง