ที่มา | สำนักข่าวไทย |
---|---|
ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ข่าวดี SMEs! ธปท. สั่งสถาบันการเงินทั่วประเทศ ปรับเกณฑ์คิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมใหม่ ลดภาระประชาชน
แบงก์ชาติ – วันนี้ (7 ม.ค.) เพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ประกาศ สั่งให้สถาบันการเงินทั่วประเทศไทย ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและ SMEs
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ในครั้งนี้ ปรับอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่
1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมผู้ประกอบการบางราย คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน แต่เกณฑ์ใหม่จะกำหนดให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้ง ให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ซึ่งค่าปรับที่ไม่สูงนี้ จะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์ (refinancing) เกิดขึ้นในประเทศไทย
2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ ในเกณฑ์ใหม่ให้นี้ จะให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับลด หรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร
นอกจากนี้ ยังให้กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันโดยไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้ชี้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน การปรับปรุงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)
3. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูง อาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธปท.ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้ มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย อันได้แก่
- ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ
2. ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร และคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ
3. ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน
4. ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ธปท.จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้น