คลังอาหารของชาติ ผลิตภัณฑ์จากปราชญ์แห่งแผ่นดิน

นับเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนทั่วทั้งโลกสำหรับพระปรีชาชาญในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิใช่เพียงในด้านการเป็นผู้นำประเทศ การปกครอง พระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ให้อุบัติขึ้น กระทั่งเรื่องประจำวันของประชาชนอย่างการกินอยู่ พระองค์ก็ทรงไม่ละเลย และด้วยเพราะไทยเติบใหญ่มาจากสังคมเกษตรกรรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงอุทิศพระวรกายแสวงหาวิธีพัฒนาแผ่นดินที่มีพื้นฐานจากการเกษตรให้มั่นคง ยั่งยืน ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ทรงสนับสนุนและขยายผลต่อยอดให้กับผลผลิตทางการเกษตร จนเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากที่ทำให้เกษตรกรและพสกนิกรชาวไทยสมบูรณ์พร้อมในเรื่องปากท้อง บนดินแดนที่ได้รับการยกย่องมาแต่ครั้งโบราณกาลว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

พันธุ์ปลาพระราชทาน

พันธุ์ปลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่ชาวไทย ทำให้ปวงประชาได้รับโปรตีนดีในราคาที่เอื้อมถึง ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้อีกทางให้กับเกษตรกร โดยทรงเริ่มโครงการประมงพระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ระยะแรกของการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์โปรดเกล้าฯให้กรมประมงใช้บ่อน้ำภายในสวนจิตรลดาเป็นที่เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลา เน้นที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว เติบโตได้ดีกับทุกสภาพแวดล้อม

ปลาพระราชทานพันธุ์แรกที่คนไทยได้รู้จัก คือ “ปลาหมอเทศ” ซึ่งกรมประมงได้มาจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานลูกปลาหมอเทศที่ทรงเพาะเลี้ยงไว้ นำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

วันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขณะดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทูลเกล้าฯถวายลูกปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ตระกูลเดียวกับปลาหมอเทศ จำนวน 50 ตัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯทดลองเลี้ยงไว้ที่บ่อปลาสวนจิตรลดา พระราชทานชื่อปลาว่า “นิล” และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวจำนวน 10,000 ตัวให้แก่กรมประมง เมื่อ

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้แก่ราษฎร พร้อมปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ทุกหนแห่ง

ทำให้คนไทยมีแหล่งโปรตีนที่ดี ราคาถูก อีกทั้งปลานิลยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี

“มิสเตอร์ลี” หรือ ชัยเทพ ภัทรพรไพศาล เชฟดังผู้ก่อตั้งLee Kitchen และ Lee Cafe เปิดเผยถึงความอร่อยล้ำของปลานิลว่า มี Texture ของเนื้อปลาที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ปลาอื่น

บางคนที่กลัวว่าปลาน้ำจืดจะมีกลิ่นสาบดิน แต่กลิ่นนั้นสามารถขจัดออกได้ เพียงแล่เนื้อปลาและถูด้วยเกลือ มะนาว พักทิ้งไว้แล้วล้างออกแบบใช้น้ำผ่าน ก็จะได้เนื้อปลาที่มีรสดี ทั้งนี้ มิสเตอร์ลียังเชื่ออีกว่าหากมีผู้ใดมาประกอบธุรกิจทำเนื้อปลานิลแล่พร้อมปรุง จะต้องไปได้ดีอย่างแน่นอน เพราะปลานิลต้นทุนไม่มาก เนื้อเยอะ และมีรสอร่อยกว่าปลายอดนิยมหลายชนิด ถือเป็นพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยแท้ ที่ทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์อันซ่อนอยู่ในปลาน้ำจืดชนิดนี้

ปีนี้นับเป็น 50 ปีเต็มของปลานิลพระราชทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกรมประมง จึงได้จัดงานรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงดำริในการเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารของประชาชน ใน “งานประมงรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ครั้งที่ 6” ภายใต้แนวคิด “50 ปี ปลานิลพระราชทาน รำลึกพระคุณพ่อของแผ่นดิน” ในระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต

พันธุ์ข้าวพระราชทาน

พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทดลองปลูกข้าวในแปลงนาสาธิตขนาด 1,000 ตารางเมตร จำนวน 3 แปลง ด้วยการใช้รถไถหรือควายเหล็ก เครื่องทุ่นแรงที่ทันสมัยที่สุดของยุคนั้น ทั้งยังทรงทดลองเรื่องปุ๋ย เรื่องการปลูกข้าวไร่ให้ได้ผลดี แม้สภาพแวดล้อมไม่อำนวย

เมื่อประสบผลสำเร็จ พระองค์ได้พระราชทานข้าวจากวังสวนจิตรให้ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและพระราชทานเผยแพร่แก่เกษตรกรให้มีข้าวพันธุ์ดี และยังทรงตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสีข้าว

กระทั่งปัจจุบัน แปลงปลูกข้าวและโรงสีข้าวตัวอย่างอยู่ในพื้นที่ของสวนจิตรลดา ยังคงถูกใช้สรรค์สร้างผลิตผลเรื่อยมา ผู้ที่อยากชิมข้าวจากโรงสีหลวงก็สามารถหาซื้อได้จากร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ

นอกจากนี้ พระมหากรุณาธิคุณอีกประการคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อให้ชาวบ้านสามารถยืมข้าวไปบริโภคได้ก่อนในที่ยามขาดแคลนอีกด้วย

โคนมพระราชทาน

ไม่ต้องอธิบายให้ยาวเลยว่าความนิยมของผลิตภัณฑ์นมจากโรงโคนมสวนจิตรลดา มีมากน้อยเพียงใด เพราะหากได้เข้าไปสอบถามร้านค้าที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นโกลเด้นเพลส หรือโครงการหลวง เจ้าหน้าที่ก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สินค้าหมดภายในวันที่มาส่งหากต้องการซื้อต้องมาให้ตรงวันลงสินค้า

โดยเฉพาะนมสดยูเอชที และนมอัดเม็ด ซึ่งเป็นที่ต้องการในท้องตลาดมาก

โดยก่อนหน้าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงริเริ่มดำเนินโครงการโรงโคนมสวนจิตรลดาเพียงหนึ่งปี ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2504 รัฐบาลเดนมาร์กได้น้อมเกล้าฯถวายการจัดตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี พระองค์ก็ทรงได้ศึกษา ค้นคว้า เกี่ยวกับกิจการโคนม ด้วย

พระราชปณิธานที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมแบบพื้นบ้าน และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย ทั้งยังช่วยสงวนเงินตราต่างประเทศในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นมจากต่างชาติ

ผลิตผลจากโครงการเพื่อปวงประชา

บนดอยสูงซึ่งเดิมทีป่าต้นน้ำถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอย และประสบปัญหาการปลูกฝิ่น แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพลิกไร่ฝิ่นให้เป็นถิ่นของพืชเมืองหนาว อย่างไม้ดอก ไม้ผล ผัก และพืชสมุนไพร ด้วยทรงจัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวง ในปี พ.ศ. 2535

ด้วยพระปรีชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำริ แก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่มีราคาต่ำและไม่แน่นอน ด้วยการที่ทรงจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากโครงการหลวง และเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรและตลาดรับซื้อ อีกทั้งทรงจัดตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

เพื่อผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมาย “ดอยคำ” ซึ่งปัจจุบันได้ผลิตสินค้าแปรรูปและอาหารกระป๋องที่หลากหลายวางจำหน่ายในร้านค้าชั้นนำทั่วไป ที่นิยมมาก อาทิ น้ำมะเขือเทศ สตรอว์เบอรี่อบแห้ง น้ำข้าวกล้องงอก มัลเบอร์รี่สกัดเข้มข้น ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ไม่ปล่อยให้เน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์