แอพเจ๋ง! “เขียนหนังสือด้วยตา” ไอเดียสาวปี 4 วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต

แอพเจ๋ง! “เขียนหนังสือด้วยตา” ไอเดียสาวปี 4 วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต

เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับไอเดียสุดเจ๋ง ของ 2 นักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเผยแพร่ไว้ใน สารรังสิต ONLINE เกี่ยวกับความสามารถในการสร้าง “แอพพลิเคชั่น-เขียนหนังสือด้วยตา” ขึ้นมาจนสำเร็จ  โดยประยุกต์ใช้คลื่นไฟฟ้าจากตา (EOG) มาใช้ในการเขียนหนังสือสำหรับคนพิการ นับเป็นผลงาน Senior Project ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อในอนาคตและใช้งานได้จริง

“จุดเด่นของการทำแอพพลิเคชั่นนี้คือ การใช้สัญญาณกล้ามเนื้อตา หรือ EOG ในการวาดหรือเขียน โดยผู้พิการทางการเคลื่อนไหวสามารถนำไปใช้ในการวาดหรือเขียนเป็นงานฝีมือ ซึ่งเปรียบเสมือนการวาดรูปด้วยตา โดยสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่าย เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น”

ฟ้า-น.ส.สอาดา คล้อยเอี่ยม

ฟ้า-น.ส.สอาดา คล้อยเอี่ยม และ หนิง -น.ส.จารุวรรณ บูรสิทธิ์  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต สองเจ้าของผลงานแอพพลิเคชั่นเขียนหนังสือด้วยตา เริ่มต้นให้ฟังอย่างนั้น ก่อนบอกต่อว่า ผลงานชิ้นนี้ เป็น Senior Project ที่มีวัตถุประสงค์ที่ใช้ลักษณะเด่นของคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อตาด้วยท่าทางการเคลื่อนไหวของดวงตา นำมาประยุกต์เพื่อใช้ในโปรแกรมการจำแนกท่าทางการมองของกล้ามเนื้อตาแบบ 2 ช่องสัญญาณ โดยการติดตามดวงตาสำหรับการเชื่อมต่อด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้สัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อตา

ซึ่งผลการจัดโครงงานสามารถแบ่งส่วนประกอบออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) ส่วนอินพุต ประกอบด้วย อิเล็กโทรดแบบวางที่ผิวหนังในการนำสัญญาณไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อตา 2) ส่วนประมวลผล การหาคุณลักษณะเด่นแบบ Discrete Cosine Transform ร่วมกับการจำแนกกลุ่มข้อมูลแบบ K-means Clustering เพื่อจำแนกท่าทางการมองของดวงตา และสร้างโปรแกรมการจำแนกรูปแบบการเคลื่อนไหวของตาด้วยสมการ Euclidean และ 3) ส่วนแสดงผลโดยใช้จอคอมพิวเตอร์ ผลการทดสอบการทำงานพบว่า EOG Writing Application สามารถใช้ EOG ในการวาดและเขียน Pattern ได้ทั้งหมด 10 ตัว คือ เลข 1 เลข 4 เลข 6 เลข 7 ตัว G ตัว L ตัว V ตัว T และตัว P และสามารถจำแนกรูปแบบการเคลื่อนไหวของตา ตาม Pattern และแสดงผลสัญญาณที่ได้มาทาง Display ในรูปของ XY Coordinated พร้อมกับการระบุ Typing ของการวาดและเขียน ซึ่งระบบการทำงานที่อยู่ในรูปแบบ Training มีความถูกต้องเฉลี่ย 95.714 เปอร์เซ็นต์ และระบบการทำงานที่อยู่ในรูปแบบ Testing มีความถูกต้องเฉลี่ย 75.000 เปอร์เซ็นต์

หนิง -น.ส.จารุวรรณ บูรสิทธิ์

“การทดลองของเรานั้นได้วาดตัวอักษรมาทั้งหมด 10 ตัว ทั้งนี้ ในอนาคตสามารถวาดตัวอักษรทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และตัวเลขได้ทุกตัว แต่จะต้องมีการวางรูปแบบในการวาดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้ผู้พิการสามารถใช้สายตาในการวาดได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาต่อไปในรูปแบบของแว่นตา หรือหมวกที่ผู้พิการสามารถสวมแล้วเชื่อมต่อกับเครื่องก็จะสะดวกในการวาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผลงานดังกล่าวนั้น อาจารย์จะเป็นผู้คุยกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ และนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้เราอีกทีหนึ่ง อย่างเช่น วงจรหรืออุปกรณ์ภายในที่ทำให้ได้ผลดังที่แสดงผล ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะคอยสนับสนุนให้คำปรึกษาด้วยค่ะ” สองสาว ไอเดียเจ๋ง ช่วยกันบอกอย่างนั้น