ที่มา | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ป่วยซึมเศร้า” พฤติกรรมด้านสุขภาพ น่าจับตามองอันดับหนึ่ง ปี 2563
สสส. เปิด 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยน่าจับตามอง ปี 2563 ระบุว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม และสื่อออนไลน์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมด้านสุขภาพที่น่าจับตามอง 10 ประเด็น ดังนี้
อันดับหนึ่ง คือ ป่วยซึมเศร้า ความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วยซึมเศร้าคือ อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ จากผลการสำรวจพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 2.9 ล้านคน พบสาเหตุหลัก คือ หน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ความสัมพันธ์
ตามมาด้วย ภัยคุกคามออนไลน์ ยิ่งเสพติดออนไลน์ยิ่งเสี่ยงสูง เจนแซด (อายุน้อยกว่า 18 ปี) เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ใช้เวลาอยู่กับการท่องโลกอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 10.22 ชั่วโมงต่อวัน มีกิจกรรมอันดับ 1 คือ โซเชียลมีเดีย
การเดินทาง พบว่า คนไทยสวมหมวกกันน็อกไม่ถึง 50% ขณะที่เด็กเล็กไม่สวมหมวกกันน็อกมากถึง 92% เหตุผลหลักคือ ความเคยชิน เดินทางระยะใกล้ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้
กลัวท้องมากกว่าติดโรค ปัญหาคุณแม่วัยใสลดลงมาก แต่ในขณะเดียวกันอัตราการป่วยทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นสูงขึ้น โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส หนองใน จากสถิติพบว่าวัยรุ่นมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยสูงขึ้น การใช้ถุงยางอนามัย “อย่างสม่ำเสมอ” ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำ
อีสปอร์ตเส้นทางระหว่างเด็กติดเกมและนักกีฬาอาชีพ 1 ใน 5 อาชีพในฝันของเด็กไทย เจนแซด และ เจนวาย มองว่าอีสปอร์ตเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีผลดีมากกว่าผลเสีย เด็กและเยาวชนเกินครึ่งทุ่มเทและใช้เวลาไปกับเกมไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง
พฤติกรรมการกินอยู่อย่างไทย วัยทำงานเน้นทานอาหารรสจัด กินผักไม่เพียงพอ เน้นหวาน มันเค็ม สูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค NCDs เพราะพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจึงมีผลอย่างมากต่อการเกิดโรค
กัญชา เมื่อใช้เป็น “ยา” รักษาโรค หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อกเป็นยารักษาโรค ในทางการแพทย์มีเพียง 4 โรคเท่านั้นที่รับรองว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาได้
ชัวร์หรือมั่ว เชื่อได้หรือไม่? คนไทยกว่า 57 ล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ข่าวลวงปะปนอยู่ คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อและแชร์ข่าวลวงเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว พบมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ
ชีวิตติดฝุ่นอันตราย (PM 2.5 และหมอกควัน) ไทยติดอันดับการเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับ 5 ของประชากรทั่วโลก ในปี 2558 พบปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน เด็กและผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
และอันดับสุดท้าย คือ อาหารขยะ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้จะกลายไปเป็น “ขยะอาหาร” บางส่วนเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้และยังไม่มีวิธีการจัดการที่เป็นระบบ ความมั่นคงทางอาหารจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญ
ที่มา สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth