หนุนเรียก “นวดไทย”แทน“ไทย มาสสาจ” ให้ต่างชาติติดหู เหตุคนใช้ผิดประเภท

หนุนเรียก“นวดไทย” แทน“ไทย มาสสาจ” ให้ต่างชาติติดหู เหตุคนใช้ผิดประเภท

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การยูเนสโก สมัยที่ 14 ณ กรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย มีมติให้ขึ้นทะเบียน ‘นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage)’ ใน ‘บัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ” นั้น

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อภัยภูเบศร พร้อมต่อยอดด้วยการตั้ง Excellent Center ด้านการแพทย์แผนไทยร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีประเด็นการพัฒนาการนวดด้วย เนื่องจากการนวดอยู่ในวัฒนธรรม และยังมีแนวคิดทฤษฏีที่ชัดเจน โดยจะพัฒนาการนวดในทุกระดับ ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง นวดเพื่อการพึ่งตนเองในชุมชน นวดเพื่อการรักษา หรือแม้กระทั่งนวดที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ เพื่อพัฒนาเป็น “โปรดักต์ แชมเปี้ยน” เช่น การนวดนักกีฬา การนวดกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาตัว โปรดักต์ แชมเปี้ยน ซึ่งจะดึงให้นำมีการนำโปรดักต์เกี่ยวกับการนวดเข้าไปอยู่ในตลาดด้วย เช่น ลูกประคบ น้ำมันนวด นอกจากนี้อยากจะรณรงค์ให้เปลี่ยนการเรียกจาก Thai massage เป็น Nuad Thai หรือ นวดไทยไปเลย เหมือนประเทศจีน ที่เรียก ทุยนา เนื่องจากในต่างประเทศก็มีการเปิดสอน Thai massage แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมถึงการนำไปใช้ผิดประเภท จึงควรใช้คำว่านวดไทย เพื่อต่อไปชาวต่างชาติจะได้จำกันจนติดหู และไม่เข้าใจผิดอีก

ดร.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า เราอยากให้นวดไทยยังคงอยู่ จึงจะร่วมกับ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะพัฒนา Excellent  Center เพื่อขับเคลื่อนและรื้อฟื้นองค์ความรู้เรื่องนวดไทย โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ ผศ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา และครูหมอนวดผู้เชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาจนได้แบบแผนการนวดเป็นของตัวเอง คือ “นวดไทยอภัยภูเบศร” จนปัจจุบันสามารถและถ่ายทอดไปสู่เอกชนแล้ว

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

“วันนี้แม้อาจารย์สำลี จะล่วงลับไปแล้ว แต่พวกเราก็จะทำงานเหล่านี้ต่อเพราะเห็นคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรม สุขภาพและเศรษฐกิจ เราได้จัดโครงการ เด็กกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน โดยการสนับสนุนของจังหวัดปราจีนบุรี คือให้เด็กมาเรียนรู้การนวด เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลากับครอบครัวให้เยอะขึ้น เพราะนอกจากจะมีความรู้นำกลับไปดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้แล้ว เด็กบางคนนวดดี ยังสามารถหารายได้พิเศษได้อีกด้วย” ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าว

นอกจากนี้ยังร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป โดยการรวบรวมองค์ความรู้นวดพื้นบ้านฝึกอบรมคนในชุมชนให้ดูแลสุขภาพกันเองในเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล คนนวดก็จะมีรายได้ด้วย ขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ร่วมกับการนวด เช่น มัสคุล สเปรย์ ซึ่งได้รับรางวัล ข้างเคียง มัส PMSA Prime Minister Herbal Award 2017 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

สำหรับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำเรื่องการนวดเข้ามาช่วง 2540-2542 โดยร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา โดยมี ผศ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิฯ ในขณะนั้น แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม แต่โรงพยาบาลยังทำต่อ เพื่อนำการนวดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกระดับ