เผยแพร่ |
---|
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 นายอรุณ ขันโคกสูง อายุ 42 ปี ชาวบ้านโพนสูง หมู่ 4 ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้พาผู้สื่อข่าวเดินชมสวนเกษตรหลังบ้านของตนเอง ซึ่งมีพื้นที่อยู่ประมาณ 2 ไร่ โดยได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ทำการเกษตรปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด อาทิ มะนาวในบ่อซีเมนต์, พริกไทย, ฟาร์มเห็ด, ผักสะระแหน่ไร้ดิน, มะเดื่อฝรั่ง และสะเดามัน เป็นต้น สร้างรายได้ให้กับครอบครัวจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และยกระดับให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน
นายอรุณ ขันโคกสูง เล่าให้ฟังว่า ในอดีตนั้นตนเป็นเพียงลูกจ้างอยู่ในอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นมีความรู้แค่ชั้น ป.6 จึงต้องทนทำงานอยู่ตามความสามารถที่จะทำได้ ต่อมาก็ได้สมัครเข้าเรียนใน กศน.เพื่อเติมความรู้ให้กับตนเอง ซึ่งก็บังเอิญไปได้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงได้นำมาทดลองใช้ในพื้นที่หลังบ้านประมาณ 2 ไร่ โดยช่วงแรกๆ ก็ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มจับทางได้ว่า ควรจะต้องทำเกษตรแบบผสมผสาน คือการปลูกพืชหลายชนิด เพราะแต่ละชนิดจะมีฤดูกาลของมัน ซึ่งราคาก็จะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เหมือนกัน เช่นมะนาวจะออกลูกเมื่อช่วงฤดูฝน ซึ่งจะได้ราคาไม่สูงนัก แต่ถ้าถึงฤดูแล้งก็จะทำการตอนกิ่งขายแทน ส่วนสะเดาก็จะออกดอกช่วงฤดูแล้ว พอถึงฤดูฝนก็จะตอนกิ่งขายเช่นกัน ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี เมื่อทำเช่นนี้ได้ก็แบ่งปันความรู้ให้กับชุมชน ผ่านศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งแต่ละปีจะมีกลุ่มเกษตรกรจากทั่วประเทศเดินทางมาเรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน
นายอรุณ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ตนได้ทั้งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้รับความสุขจากการแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆ เกษตรกรทั่วประเทศด้วย จึงนับว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับเกษตรกรทั่วไป ซึ่งพระองค์ท่านได้ศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จนตกผลึกกลายเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และยั่งยืนตลอดไป
ที่มา มติชนออนไลน์