#ของมันต้องมี “ผ้าอนามัย” ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย วอนรัฐคุ้มครองราคา ยกเลิกภาษี

#ของมันต้องมี “ผ้าอนามัย” ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย วอนรัฐคุ้มครองราคา ยกเลิกภาษี 

ข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ Change.org องค์กรรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง  ได้แคมเปญใหม่ เรียกร้องให้รัฐ   ออกมาตรการควบคุมสินค้าประเภทผ้าอนามัย เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ โดยระบุถึงที่มาและเหตุผลในการรณรงค์ครั้งนี้ว่า  ผ้าอนามัย นับเป็นของจำเป็นสำหรับผู้หญิง แต่กลับถูกจัดให้อยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง มีการคิดภาษี จนราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น และแพงเมื่อเทียบกับค่าแรงหรือรายได้ขั้นต่ำ เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้หญิงต้องแบกรับในแต่ละเดือน ขณะที่ในหลายประเทศอย่างออสเตรเลีย แคนาดา และอินเดียก็ได้ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยไปแล้ว

“ประจำเดือน เป็นกลไกทางร่างกายที่ทำให้ผู้หญิงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น  มันไม่เกี่ยวกับได้เงินเดือนเท่าไหร่จะจ่ายพอมั้ยด้วยซ้ำ มันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ผู้หญิงจำเป็นต้องจ่าย เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้ารัฐจะช่วยให้มันเท่าเทียมขึ้นสักนิดได้ก็จะดี  เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องพิลึก ถ้ามองกันว่าแปลกพิลึกกันแต่แรก ชาตินี้ก็ไม่มีวันเข้าใจความหลากหลายได้ จริงๆ ของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตพื้นฐานลักษณะนี้ ควรได้รับการยกเว้นภาษีด้วยซ้ำ” นี่คือเสียงสะท้อนความรู้สึก จากผู้ร่วมแคมเปญรณรงค์ฯ

ทั้งยังมีข้อมูลตัวเลขค่าใช้จ่ายออกมาระบุด้วยว่า

“ผ้าอนามัย 1 ห่อ ประมาณ 40-60 บาท แบบสอดประมาณ 80 บาท ตอนกลางวันบางคนมามากต้องใช้แบบตอนกลางคืน (ซึ่งการมามากมาน้อยขึ้นอยู่กับบุคคล) แต่ผ้าอนามัยควรเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อสุขอนามัยที่ดี เฉลี่ยใช้วันละ 7 แผ่น เมนส์มาประมาณ 4-7 วันแล้วแต่คน เฉลี่ยแล้วเมนส์มา 1 ครั้งใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 กว่าแผ่น  ก็ประมาณ 400 บาทต่อเดือน” ถ้าผู้หญิงหนึ่งคนมีช่วงที่มีประจำเดือนสัก 30 ปี ก็จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 140,000 บาท

ถ้าจำกันได้ ครั้งหนึ่ง ช่วงที่น้ำดื่มแพง กระทรวงพาณิชย์เคยออกประกาศ ‘ราคาแนะนำ’ น้ำขวด (ขนาด 500-600 ซีซี) ควรอยู่ที่ราคา 7 บาท ตรงนี้ รัฐมองผ่านมิติที่ว่า นี่คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ต้องได้รับการคุ้มครองราคา ไม่ต่างอะไรกับผ้าอนามัย ที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ผู้หญิงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไม่มีมดลูก และประจำเดือนมันก็ติดมาพร้อมการมีมดลูก ผ้าอนามัยควรถูกมองว่าเป็น สินค้าจำเป็น ต่อสุขภาพอนามัย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้หญิง”

Change.org ระบุข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกว่า ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษ  ประกาศลดภาษีผ้าอนามัย พร้อมบริจาคเงินภาษี 15 ล้านปอนด์ให้องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้หญิงทุกปี รัฐบาลสก็อตแลนด์   ทุ่มเงินกว่า 4 ล้านยูโร แจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้

รัฐบาลอินเดีย  ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย 100% เพราะเห็นว่าการมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในเหตุผลแรกๆ ที่เด็กหญิงจำนวนมากต้องทิ้งการเรียน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ในเวลาจำเป็น บางส่วนใช้เศษผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วน รัฐบาลออสเตรเลีย และแคนาดา ประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัยแล้ว

“อยากขอแรงสนับสนุน ช่วยกันส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการแจกเป็นสวัสดิการ กำหนดราคากลาง ราคาแนะนำ การลด หรือการยกเลิกเก็บภาษีสำหรับสินค้าประเภทนี้ ให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้  ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่การมอบอภิสิทธิ์ ให้ผู้หญิง แต่คือ สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” Change.org ระบุ