คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! เพื่อป้องกันไว้ก่อน เชื้อโรคที่มากับสุนัข & แมว

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! เพื่อป้องกันไว้ก่อน เชื้อโรคที่มากับสุนัข & แมว

การเลี้ยงสัตว์ขณะที่ท้องนั้น มีส่วนช่วยให้คุณแม่มีอารมณ์ดี ผ่อนคลาย ไม่เครียด ช่วยลดความกังวลต่างๆ ได้ แต่อาจมีบางเรื่องที่คุณแม่ในระยะตั้งครรภ์ต้องรู้และระวังไว้คือ การเลี้ยงแมวและสุนัขขณะที่ท้องนั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจจะมีอันตรายที่คาดไม่ถึงตามมาได้ค่ะ

โรคพยาธิ

พยาธิที่มักพบจากบรรดาน้องหมา น้องแมว คือ พยาธิตัวกลม พยาธิไส้เดือน การรับโรคพยาธิจากน้องหมาเกิดขึ้นได้หลายทาง ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์เลี้ยงหรือไปสัมผัสกับวัตถุสิ่งของที่อาจจะมีอึของน้องหมาหรือน้องแมวติดอยู่ การติดพยาธิไส้เดือนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกลืนไข่พยาธิเข้าไป โดยเฉพาะแม่ท้องและเด็กๆ ไปสัมผัสขนที่มีไข่พยาธิติดอยู่แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ไข่พยาธิมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้ติดโรค

ผลกระทบสู่คน อาการจะแสดงออกมาในลักษณะของอาการระคายเคืองหรือเป็นไข้ แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างอื่นด้วย เช่น ตับโตและต่อมน้ำเหลืองโต ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ตาพร่ามัว หรือถึงขั้นตาบอด

การป้องกัน หมั่นทำความสะอาดกรงหรือที่อยู่อาศัยของน้องหมา น้องแมว โดยเฉพาะบริเวณที่สำหรับอึ หรือฉี่ ที่สำคัญ การทำความสะอาดควรใส่ถุงมือทุกครั้ง และใส่รองเท้าหากเหยียบบริเวณที่เป็นพื้นดิน และล้างมือ ฟอกสบู่ หลังจากทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย

 

โรคแมวข่วน

ชื่อฟังดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหา แต่โรคแมวข่วนนี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บาร์โทเนลล่า เฮนเซลเล่ (Bartonella Henselae) สามารถก่อโรคได้ในคน เมื่อคนถูกแมวกัดหรือข่วน หรือถูกแมวเลียที่บาดแผลได้ เชื้อโรคนี้จะติดอยู่ตามซอกเล็บ เขี้ยวและฟันของแมว เมื่อแมวเลีย กัด หรือข่วนเจ้าของจนเกิดแผล เชื้อก็สามารถเข้าสู่บาดแผลได้

ผลกระทบสู่คน อาการที่พบคือ พบผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต โดยทั่วไป โรคนี้สามารถหายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ แต่ในคนที่มีร่างกายอ่อนแอ เด็กเล็ก แม่ตั้งครรภ์ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้ แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีไข้ เกิดการติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท หรือมีตุ่มนูนที่ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังพบรายงานการติดเชื้อแทรกซ้อนที่หัวใจและตับอีกด้วย

การป้องกัน ควรรักษาความสะอาดโดยป้องกันไม่ให้แมวมีหมัด หากถูกแมวข่วนให้ทำการล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และใช้ยาฆ่าเชื้อทาแผลให้เร็วที่สุด

ข้อควรรู้ หากโดนแมวข่วน แล้วมีอาการดังต่อไปนี้ให้ไปพบคุณหมอ เช่น แผลกัดหรือข่วนหายช้า รอบรอยกัดหรือข่วนแดงขึ้นและกว้างขึ้น ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบบวมและปวดอยู่นาน ปวดกระดูกหรือปวดข้อ หรือมีอาการอ่อนเพลียอย่างผิดสังเกตและเป็นไข้นานหลายวัน

โรคท็อกโซพลาสโมซิส

เชื้อนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งจะเจริญและขยายพันธุ์ในลำไส้ของแมว โดยแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะชอบเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งอาจจะไปกินเนื้อดิบๆ หรือกินหนู และแมลงสาบที่ติดเชื้อ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายแมว ไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ตลอดจนลำไส้ของแมว และเชื้อจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมว

ผลกระทบสู่คน

– กรณีอาการไม่รุนแรง อาจพบเพียงอาการคล้ายหวัด หรือปวดตามกล้ามเนื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการเหล่านี้จะหายไป ซึ่งปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีอาการแบบไม่รุนแรง

– กรณีอาการรุนแรง อาจพบ อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ร่างกายด้านหนึ่งอ่อนแรง ชัก มีปัญหาด้านการมองเห็น การพูดและการเดิน

– แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการรุนแรงซึ่งผลที่มีต่อเด็ก คือ ถ้าคุณเพิ่งได้รับเชื้อครั้งแรกในขณะที่ตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ เชื้อนี้สามารถผ่านไปที่ตัวเด็กได้ โดยที่คุณแม่ไม่ได้แสดงอาการของโรคนี้ออกมา แต่หลังจากคลอดประมาณ 6-7 เดือน เด็กที่ติดเชื้อโรคนี้จะมีอาการ ตาบอด ปัญญาอ่อน มีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือภาวะบกพร่องทางด้านจิตใจ (Mental Disability) บางครั้งอาจพบเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อ มีอาการตาอักเสบอย่างรุนแรง หรือสมองถูกทำลายตั้งแต่แรกคลอดเลยก็ได้ สำหรับการติดเชื้อก่อนตั้งครรภ์หรือเลยช่วง 3 เดือนแรกไปแล้วมักไม่พบการติดต่อสู่ทารกในครรภ์

วิธีการป้องกันและดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างปลอดภัย มีดังนี้

  1. ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจร่างกายกับสัตวแพทย์
  2. จัดตารางเวลาในการฉีดวัคซีนป้องกัน และโปรแกรมการถ่ายพยาธิ
  3. หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงให้สะอาด จัดแต่งขนและตัดเล็บให้เรียบร้อย
  4. เมื่อจะทำความสะอาดกรง ควรสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  5. อย่าใช้มูลสัตว์เลี้ยงไปทำเป็นปุ๋ย
  6. ล้างมือด้วยสบู่กับน้ำร้อนสัก 20 วินาทีทันทีหลังจากเล่น หรือทำความสะอาดให้สัตว์เลี้ยงแล้ว
  7. อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงกินเนื้อดิบ หรือดื่มน้ำจากโถส้วม หรือปล่อยให้คุ้ยเขี่ยกองขยะ
  8. สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงมาเพ่นพ่านในส่วนที่เตรียมอาหาร

เมื่อได้ทราบอันตรายจากสัตว์เลี้ยงกันแล้ว “การป้องกัน” จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หรือให้คุณพ่อเป็นคนดูแลเรื่องการกำจัดสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลี้ยงดีกว่านะคะ

หมอขออีกอย่างกับเจ้าของสัตว์ทั้งหลาย การเอาสัตว์เลี้ยงไปทิ้งหรือไปปล่อย เพราะเรากลัวการติดโรคจากสัตว์ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนะคะ เรามีวิธีป้องกันอันตรายเหล่านั้นได้ด้วยตัวเราเอง อย่าลงโทษสัตว์เหล่านั้นด้วยการทิ้งขว้างพวกเขานะคะ ขอบคุณค่ะ