มติ  ครม. อนุญาต กลุ่มประเทศ CLMV และจีน อยู่ไทยได้ 90 วัน กรณีรักษาพยาบาล

พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และพันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์                ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน  2559  ว่า ที่ประชุมได้ขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)  และสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นการอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เสนอ  และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกประกาศเพื่อให้เป็นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง คือ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า

ปัจจุบันรูปแบบการเดินทางเข้าประเทศไทยกรณีถือหนังสือเดินทางธรรมดา (Passport) ในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีดังนี้ จีน พำนักได้ไม่เกิน 15 วัน (Visa on arrival) กัมพูชาและเมียนมา พำนักไม่เกิน 14 วัน (ยกเว้นการตรวจลงตรา) เวียดนามและ สปป. ลาว พำนักไม่เกิน 30 วัน (ยกเว้นการตรวจลงตรา)

กรณีขอตรวจลงตราเพื่อเข้าประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือต้องการขยายเวลาพำนักต่อ ส่วนใหญ่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว รหัส MT (Medical Treatment) ระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 60 วัน หรือประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non Immigrant Visa) ภายใต้รหัส O ระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ประชุมปรึกษาหารือและเสนอแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม คือการขอยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ป่วย บุคคลในครอบครัว และผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 คน แบบมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยมีระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง และสามารถขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี

กรณีขออยู่ต่อใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรตาม ข้อ 2 ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 777/2551 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เหตุแห่งความจำเป็น ข้อ 2.25 กรณีเพื่อรับการรักษาพยาบาล หรือการพักฟื้น หรือเพื่อดูแลผู้ป่วย ให้อนุญาตครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

1.1 ได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา โดยปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย ระยะเวลาในการรักษา และความเห็นของแพทย์ผู้รักษาว่าอาการป่วยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง

1.2 กรณีดูแลผู้ป่วยต้องได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา หรือสถานทูต หรือสถานกงสุล

1.3 ผู้ดูแลผู้ป่วย นอกจากบิดามารดา คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม หริบุตรของคู่สมรสแล้วให้อนุญาตได้อีกไม่เกิน 1 คนโดยยื่นขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มประเทศดังกล่าว และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ         ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)