หมอเตือน “ความดันสูง” เจอได้ในรุ่นเด็กจากหลายสาเหตุ ต้องเช็กให้ดี

หมอเตือน “ความดันสูง” เจอได้ในรุ่นเด็กจากหลายสาเหตุ ต้องเช็กให้ดี

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ชะลอวัย กล่าวว่า ภาวะความดันโลหิตสูงแบบมีต้นเหตุตัวการจากโรคอื่นมาก่อนนั้น เขาเรียกความดันสูงแบบทุติยภูมิ หรือ “Secondary hypertension” ที่อาจพบได้ในผู้ใหญ่หรือเด็กก็ได้ โดยความดันสูงในเด็กนั้นส่วนใหญ่เป็นชนิดนี้ที่พบว่ามีตัวการอันเป็นสาเหตุถึง 70-85% ซึ่งต่างจากความดันสูงในผู้ใหญ่ ดังนั้น เวลาวัดความดันเด็กจึงควรเทียบกับเพศ อายุ และเปอร์เซ็นต์ไทล์ความสูงด้วย สาเหตุตัวการร้ายขั้นปฐมที่ระดมกันให้เกิดความดันสูงแบบทุติยภูมิในเด็กนี้ มีที่พบบ่อยได้แก่ ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา, หลอดเลือดแดงไตตีบ, ต่อมไทรอยด์ผิดปกติทำให้มีใจสั่นหรือใจหวิวร่วมด้วยได้, โรคต่อมหมวกไต, ตรวจพบค่าแร่ธาตุโพแทสเซียมต่ำได้, หยุดหายใจขณะหลับ, เนื้องอก, หน้าแดง ปวดศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกมากหายใจขัด ที่สำคัญคือความดันสูง, กลุ่มอาการคุชชิ่งที่เกิดจากฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ผิดปกติ

อย่างไรก็ดี นพ.กฤษดา กล่าวว่า ก่อนที่จะดูลึกไปถึงอาการ ควรต้องศึกษาเทคนิควัดความดันที่ถูกต้องเสียก่อน เช่น เลือกวัดในขณะพัก ดูอิริยาบถ และเลือกขนาดของแถบพันแขนให้เหมาะ มีเคล็ดลับฝากไว้ คือ ค่าความดันจากนาฬิกาหรือเครื่องวัดดิจิตอลนี้ไม่ควรยึดไว้เป็นหลักอย่างเดียว จำเป็นต้องให้บุคลากรทางการแพทย์วัดโดยการใช้หูฟังแนบแขนด้วย จะเป็นค่าแน่นอนที่สุด และควรวัดขณะพัก ไม่ควรวัดตอนเหนื่อยจัดหรือเพิ่งรีบมานั่งลงแล้ววัดเลย เพราะอาจทำให้ค่าคลาดเคลื่อนผิดปกติไปได้ ควรต้องทราบไว้ว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งมีความดันสูงเมื่อพบบุคลากรทางการแพทย์ จะเห็นว่าความดันสูงมีปัจจัยกระตุ้นอยู่หลายอย่างด้วยกัน

“แม้แต่ยาที่รับประทานก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมียาที่อาจทำให้ความดันเพิ่มขึ้นได้ดังต่อไปนี้ 1. ยาคุมกำเนิด 2. สมุนไพรบางชนิด ได้แก่ โสมและสมุนไพรใช้ลดความอ้วน 3. ยาเสพติด เช่น ยาบ้า, โคเคน 4. ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน, นาโพรเซน, ยาแก้ปวด COX2 inhibitor 5. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น ยาต้านซึมเศร้าฟลูออกเซติน, ไตรไซคลิก และยากันชัก 6. สารสเตียรอยด์ และ 7. ยาลดน้ำมูกบางชนิด