ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เด็กสวนสุนันทา โชว์ไอเดียนำ “เปลือกมะพร้าว” มาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ ใช้งานได้จริง
น.ส.จิตรลดา ชูมี อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า “กระดาษมะพร้าว” เป็นบรรจุภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่รักษ์โลกที่ทีมวิจัยโดยอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษมะพร้าว ภายใต้ชื่อ COCONUT BIOWARE วัตถุดิบ คือ เปลือกมะพร้าว ที่เหลือทิ้งของชุมชนบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่เหลือจากการผลิตน้ำมะพร้าว และกะทิที่มีปริมาณจำนวนมากตลอดทั้งปี มาผ่านกระบวนการผลิตจนกลายเป็นกระดาษมะพร้าว
นวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลงานสีเขียวจากงานวิจัย “กระดาษเปลือกมะพร้าวผสมสา” ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงยังได้รับรางวัลจากการนำเสนอผลงานวิจัยบนเวทีนานาชาติ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมะพร้าว นับเป็นนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าขยะทางการเกษตร อีกทั้งยังสามารถสร้างงาน สร้างรายให้คนในชุมชน ช่วยลดขยะประเภทกล่องโฟม ถุงและภาชนะพลาสติกอีกหลายชนิด ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชนให้พัฒนานวัตกรรมเป็นบรรจุภัณฑ์ภาชนะบนโต๊ะอาหารจากกระดาษมะพร้าวที่ใช้ได้จริง โดยทดลองขึ้นรูปกับเครื่องเป็นภาชนะ ต้องอาศัยแรงอัด ความร้อน และส่วนผสมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมภาชนะรักษ์โลกได้สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง
อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาเคมี บอกต่อว่า ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ใบสัก ใบบัว กาบหมาก กาบกล้วย ต่างก็นำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา