“ไข่ผำ” พืชขนาดเล็ก สีเขียวคล้ายตะไคร่ สุดยอดโปรตีน ปรุงเมนูสุดแซ่บได้เพียบ

พาไปรู้จัก “ไข่ผำ” พืชขนาดเล็กสีเขียว สุดยอดโปรตีน ปรุงหลายเมนูสุดแซ่บ

ไข่ผำ, ผำ, ไข่น้ำ, ไข่แหน  ผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง ถือว่าเป็นพืชที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งมีน้อยคนจะรู้จัก สำหรับ ไข่ผำ คนเหนือเรียก ผำ ภาคกลางเรียก ไข่น้ำ ส่วนคนอีสานเรียก ไข่ผำ

ไข่ผำ เป็นพืชน้ำ ลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มีขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน เวลาเก็บไข่น้ำ ต้องใช้สวิงช้อนขึ้นมา แล้วล้างให้สะอาดก่อนจะนำไปปรุงทำอาหาร ไข่ผำ เป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือผัด บางที่ก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น

มาทำความรู้จักกับ ผำ

ไข่ผำ เป็นพืชน้ำที่มีขนาดเล็กมาก คล้ายตะไคร่น้ำ รูปร่างเป็นเม็ดกลมเล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.2  มิลลิเมตร มีสีเขียวลอยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นแพ มักเกิดในธรรมชาติที่น้ำใส นิ่ง เช่น บึง หนองน้ำ มักเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำ รูปร่างลักษณะคล้ายรูปไข่ จัดเป็นพืชดอกไม่มีรากและใบ ขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จัดเป็นผักพื้นบ้านที่คนชนบทภาคเหนือและอีสานนิยมใช้เป็นอาหาร มีรสมัน มีโปรตีนสูงมาก ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง โดยปริมาณโปรตีนคล้ายคลึงกับถั่วเหลือง ซึ่งสูงกว่าไข่และเนื้อ แต่ปริมาณโปรตีนจะไม่สม่ำเสมอขึ้นกับแหล่งที่อยู่ โดยจะแปรผันไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

ไข่ผำ นอกจากจะใช้เป็นอาหารคนและสัตว์แล้ว ยังมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย โดยผำจะช่วยให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำมีค่าสูงขึ้น ความเป็นกรดด่างอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นกลาง และค่าความขุ่นของน้ำเสียมีค่าต่ำลง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ไข่ผำจากการบำบัดน้ำเสียไปรับประทาน เพราะอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายจากน้ำเสียสะสมในผำ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ไข่ผำจัดได้ว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง ควรส่งเสริมให้มีการผลิตและบริโภคมากยิ่งขึ้น

คุณประโยชน์ของผำ

ไข่ผำ เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ เหมาะแก่การทำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา เช่น การศึกษาอิทธิพลของสารที่ควบคุมการขยายพันธุ์ของพืช

ไข่ผำ เป็นอาหารของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกหลายชนิด นอกจากนี้ ไข่ผำยังมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก คนเหนือและอีสานของประเทศไทยนำมาประกอบเป็นอาหาร ผำมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร ก่อนนำมารับประทานต้องปรุงให้สุกก่อน

ในไข่ผำ 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ บี 1 บี 2 วิตามินซี ไนอะซิน และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีน ไลซีน วาลีน ฟีนิวอลานีน ธีโอนีน ไอโซลิวซีน และมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก คลอโรฟิลล์ในผำ เป็นสารสีเขียวที่พบในพืช โครงสร้างมีลักษณะคล้ายฮีมที่อยู่ในฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเลือด มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการท้องผูก ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียด หรือร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และช่วยรักษาภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง

การขยายพันธุ์ไข่ผำ

การเพาะเลี้ยงไข่ผำ วัสดุที่เพาะเลี้ยงอาจเป็นโอ่ง อ่างน้ำ กะละมัง หรือท่อซีเมนต์ หากใช้ท่อซีเมนต์ต้องเทปูนรองพื้น ป้องกันน้ำรั่ว ใส่ท่อระบายน้ำทิ้งไว้เพื่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และแช่น้ำทิ้งไว้ให้บ่อหมดความเป็นปูนหรือที่เรียกว่าให้บ่อจืดก่อน จึงจะเลี้ยงผำได้ สถานที่สำหรับเลี้ยงต้องเป็นที่ค่อนข้างร่ม อาจใช้ใต้ร่มไม้ก็ได้ หากจำเป็นต้องเลี้ยงกลางแดดให้พรางแสงด้วยซาแรน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยให้ผำโตดี และให้โปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงกลางแดดจัด

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำได้ 2 แบบ คือ เก็บครั้งเดียวแล้วเลี้ยงใหม่ หรือเก็บสัปดาห์ละครั้ง แต่ควรเก็บ 40 เปอร์เซ็นต์ของผำในบ่อเลี้ยง เพื่อให้ผำเจริญเติบโตได้เพียงพอกับการรับประทานได้บ่อยครั้ง

การเก็บรักษา หากเหลือจากรับประทานสามารถเก็บให้คงความสดอยู่ได้ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 2 วัน และเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 1 สัปดาห์

ไข่ผำ ปรุงได้หลายเมนูแล้วแต่ชอบ ฉบับนี้ผู้เขียนขอแนะนำเมนูไข่ผำง่ายๆ ของชาวชนบท ที่อยู่กินกันแบบง่ายๆ ตามธรรมชาติ ซึ่งทำไม่ยาก คือเมนู ไข่เจียวผำ และแกงคั่วผำ ลองทำดู อร่อยแน่นอน

เมนูไข่ผำ  ไข่เจียวผำ

ล้างผำให้สะอาดใส่ถ้วย ตอกไข่ใส่ ปรุงรสด้วยน้ำปลาซีอิ๊วและพริกไทย ตีให้เข้ากัน ตั้งกระทะใส่น้ำมันให้ร้อน เทไข่ลงในกระทะก็จะได้ไข่เจียวหอมๆ พร้อมรสกรุบๆ มันๆ ของไข่ผำ คล้ายๆ เคี้ยวไข่กุ้งที่หน้าซูชิ เสิร์ฟคู่กับซอสพริกหรือซอสมะเขือเทศ

แกงคั่วผำ

ส่วนผสม ผำล้างสะอาด เนื้อหมู (หมูชิ้น หมูสับ หรือหมูสามชั้นก็ได้) เครื่องแกงกะทิทั่วไป ใบมะกรูดซอย พริกชี้ฟ้าหั่น กระเทียมสับ น้ำมันพืช กะปิ ปลาร้าต้มสุก เกลือ

วิธีทำ  นำกระทะขึ้นตั้งไฟ เจียวกระเทียมกับน้ำมันใส่เครื่องแกงลงผัดจนมีกลิ่นหอม ใส่หมูผัดให้สุก ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และพริกชี้ฟ้า ผัดให้เข้ากัน ตามด้วยผำลงผัด แต่อย่าใช้เวลานาน ดูว่าพอสุกก็ตักขึ้น ไข่ผำจะยังกรุบๆ อยู่ ยกลงตักใส่จาน

บางคนเห็นไข่ผำแล้วรังเกียจ ไม่กล้ารับประทาน ด้วยเพราะสีเขียวๆ ดูยังไงก็ยังเป็นตะไคร่น้ำนั่นเอง ยิ่งเวลานำไปทำอาหารแล้ว สีก็ยังไม่เปลี่ยนอีก สำหรับบางคนเห็นแล้วไม่กล้ารับประทาน สำหรับผู้เขียนตอนเด็กๆ ชอบรับประทานแกงไข่ผำมาก ด้วยรสชาติมันๆ กรุบๆ รับประทานทุกครั้งอร่อยทุกครั้ง ใครที่ไม่เคยรับประทานก็หารับประทานกันได้ ไม่เชื่อลองติดต่อไปที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) รับรองไม่ผิดหวัง

ปัจจุบัน ไข่ผำ เริ่มหายากในสภาพธรรมชาติ และผู้บริโภคไม่กล้ารับประทานด้วยเกรงว่าผำที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่สะอาด เนื่องจากน้ำในธรรมชาติมีความสกปรกเน่าเสียเพิ่มขึ้น อาจมีสารพิษ เชื้อโรคหรือไข่พยาธิปนเปื้อน แม้จะมีการเพาะเลี้ยงกันบ้างแต่ก็ยังมีปริมาณน้อย การทดลองระบบเลี้ยงที่เน้นความสะอาดปลอดภัย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจส่งเสริมให้มีการผลิตและการบริโภคผำ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงให้มากยิ่งขึ้น

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไข่น้ำหรือผำ ติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) เลขที่ 111 หมู่ที่ 10 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30280 โทร. (044) 465-115 แฟกซ์ 044-465-115 E-mail : [email protected] ได้ทุกวันในเวลาราชการ

ขอบคุณข้อมูลจาก  ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน)