“ความแตกต่าง” จุด “ชี้เป็น ชี้ตาย” ของการอยู่รอดในวงการอาหาร

“ความแตกต่าง” จุด “ชี้เป็น ชี้ตาย” ของการอยู่รอดในวงการอาหาร

ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะขึ้น จะลงยังไง “ผู้คนก็ยังต้องกิน” ธุรกิจในวงการอาหาร จึงมีมูลค่าเติบโตขึ้นตลอด ทำให้มีหลายคนลงมาทำธุรกิจนี้ การเป็นเจ้าของธุรกิจในวงการอาหาร จึงต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรงและกระทบกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะในระดับเล็กๆ แบบเจ้าของร้านที่เปิดร้านอาหาร หรือระดับเจ้าของโรงงานที่อยู่เบื้องหลัง ที่ป้อนวัตถุดิบชนิดต่างๆ ก็มักโดนกระทบเช่นกัน ทำให้วิถีการอยู่ในวงการนี้จึงไม่ง่ายแบบที่คิด

นอกจากคู่แข่งเยอะแล้ว ยังต้องเจอข้อจำกัดทางอาชีพอีกหลายอย่าง ทั้งวัตถุดิบที่เสียง่าย เก็บได้ไม่นาน, ไหนจะต้นทุนที่ขึ้นๆ ลงๆ และยังมีการแทรกแซงด้วยคู่แข่งหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นตลอด ทั้งภายในและภายนอกจากต่างประเทศ ที่พร้อมจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดนี้ จุดแข็งเดียวที่จะอยู่วงการอาหารให้รอดได้นั้น จึงหนีไม่พ้น “การสร้างจุดแตกต่าง” ของตัวเองขึ้นมาให้ได้แบบเร็วที่สุด การทำให้ “แตกต่าง” เป็นจุดชี้เป็น ชี้ตาย ของการอยู่รอดในวงการอาหารเลยก็ว่าได้

วิธีสร้าง “ความแตกต่าง” ในธุรกิจผลิตอาหารเสมือนเป็นการสร้างจุดแข็งที่ดีที่สุด เพื่อความอยู่รอด และขยับขยายก้าวไปสู่การเติบโตได้ วิธีสร้างความแตกต่างมีหลายวิธี แต่ที่น่าสนใจและเห็นผลเร็วที่สุด คือการใช้การออกแบบมาช่วย เช่น การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การออกแบบหน้าร้านใหม่ เป็นต้น

ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น “กล้วยตาก จิราพร” สินค้ากล้วยตากที่แสนธรรมดา แต่เมื่อเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่แล้ว ให้เป็นแบบ “กล้วยตากพรีเมี่ยม” เพิ่มความดูดี อีกทั้งยังออกแบบเผื่อการกิน ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้พร้อมกินได้ทันที ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่จากสินค้าเดิมๆ นี้ กลายมาเป็นสินค้าที่เติบโตและโกอินเตอร์สร้างยอดขายและฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นได้

 

เริ่มที่การออกแบบแพ็กเกจจิ้งก่อน TCDC ที่เดียวที่จะช่วยตอบโจทย์การออกแบบได้ตั้งแต่เริ่มต้น

“TCDC” ถูกสร้างมาเพื่อเป็นห้องสมุดที่รวบรวมไอเดียการออกแบบ เพื่อใช้ในการสร้างผลิตจริง จุดเด่นของที่นี่คือ นอกจากจะมีเอกสารแบบสมุดแล้ว ยังมีวัสดุให้เลือกดูได้ของจริง และยังมีการขึ้นงานแบบ 3D หรืออื่นๆ บริการด้วย หากอยากเริ่มต้นหาความแตกต่าง เริ่มต้นได้ที่

1. หาไอเดียการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่โดดเด่น เริ่มที่ โซน Resource Center

Resource Center เป็นโซนที่มีแหล่งค้นคว้าการออกแบบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในโซนนี้ มีทั้งหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับการออกแบบที่หลากหลาย ในหมวดของการออกแบบแพ็กเกจจิ้งนั้น ไม่ใช่แค่ออกแบบให้สวยอย่างเดียว ในแนวคิดยังดูไปถึงเรื่องพฤติกรรมการกิน และการจัดเก็บระหว่างทางหรืออายุของอาหารหลังจากซื้อมาด้วย ซึ่งเมื่อรวมแนวคิดทั้งหมดแล้วจึงออกมาเป็น แพ็กเกจจิ้งที่ตอบโจทย์ได้แบบแท้จริง เช่น หากเป็นผู้ผลิตขนมปี๊บ และต้องการพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง ก็ให้มองไปที่ 2 ส่วน คือ ส่วนของความสวยงามและการใช้งาน

 

  1. เมื่อมีภาพร่างแล้ว ขั้นต่อไปคือหาวัสดุที่ใช่ Material & Design Innovation Center

โซนนี้ได้รวบรวมวัสดุจากทั่วประเทศ และยังมีการรวบรวมเอานวัตกรรมการออกแบบจากไทยและต่างประเทศมาไว้ให้เยอะมาก ความน่าตื่นเต้นของโซนนี้คือ จะได้เห็นวัสดุแบบจับต้องได้จริง และในแต่ละวัสดุนั้นจะมีรายละเอียดของแต่ละแหล่งวัตถุดิบด้วยเพื่อที่จะนำไปทำจริงได้ จากที่เรามีแบบร่างแพ็กเกจจิ้งขนมปี๊บแบบใหม่แล้ว เราก็มาเลือกดูวัสดุที่จะใช้ จะใช้เป็น กระดาษขาว กระดาษมัน ฟอยล์ หรือซองพลาสติก ฯลฯ ก็มาเลือกใช้ได้และจดแหล่งผลิตเพื่อไปติดต่อสั่งทำได้

  1. ขึ้นแบบจริงด้วย 3D โซน Making Space

ในโซนนี้ จะเปลี่ยนทุกงานไอเดียทุกงานแบบร่างให้เป็นชิ้นแบบจับต้องได้จริงๆ รวบรวมอุปกรณ์สำหรับงานออกแบบ แบ่งออกเป็น งานไม้, งานผ้า, งานปัก, งานเลเซอร์ และงาน 3D Printer ใครอยากออกแบบอะไร ใช้วัสดุไหน ก็สามารถขอใช้งานในส่วนนี้ได้ โดยจากเมื่อกี๊ที่มีแบบร่างและวัสดุที่ใช้แล้ว ในขั้นนี้จะเป็นการขึ้นงานจริง เพื่อดูว่าสิ่งที่ออกแบบจะเป็นยังไงบ้าง อาจจะเป็นการดูเรื่องของขนาดและการใช้งานจริง

ขนมปี๊บแบบใหม่จะใช้ซองกระดาษฟอยล์เป็นหลักโดยจากเดิมที่มีแต่ขนาดใหญ่ๆ ก็ย่อยเป็นซองเล็กลงเพื่อให้เหมาะกับการกินและพกพามากขึ้น และยังช่วยให้ขนมไม่แตกหักด้วย เพราะไม่อัดกันแน่นมาก รูปแบบตัวอย่างที่ได้ก็จะประมาณนี้ ก่อนส่งไปยังโรงพิมพ์จริง

TCDC เป็นหนึ่งในห้องทดลองและห้องสมุดที่ให้การค้นคว้าหาไอเดียที่นำไปสู่การลงมือทำได้จริง เพราะมีทั้งไอเดียที่ใช้จนถึงวัสดุที่ใช้ เจ้าของธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับวงการอาหารควรไปดู เพื่อหาไอเดียการสร้างจุดแตกต่างให้กับสินค้า เริ่มต้นตั้งแต่แพ็กเกจจิ้ง และต่อยอดไปยังส่วนอื่นๆ ได้ทุกงานออกแบบ

ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันอย่างรุนแรงในยุคนี้ การสร้างความแตกต่างยังไงก็เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของทุกธุรกิจ หากสนใจวิธีสร้างความแตกต่างและจุดเด่นของธุรกิจนั้นมี 7 กลยุทธ์ที่ทำได้เลยทันที

รายละเอียดการใช้บริการ TCDC

ที่ตั้ง อาคารไปรษณีย์กลาง https://goo.gl/maps/A6bs4bMbKyZwdFWC7

ราคาการใช้บริการ

รายวัน (1-day pass) : 100 บาท

นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ผู้สูงอายุ : 600 บาท/ปี

บุคคลทั่วไป : 1,200 บาท/ปี

 

ที่มา ข้อมูลและภาพบางส่วน  tmbbank.com

และ กล้วยตากจิราพร / Jiraporn Banana