ร้านมนต์นมสด แจกสูตร “ต้มนมสด” ยังไงให้อร่อย วิธีการไม่ยาก

ร้านมนต์นมสด แจกสูตร “ต้มนมสด” ยังไงให้อร่อย วิธีการไม่ยาก

แม้ไม่ได้เป็นร้านดังอยู่ในกระแสที่ต้องไปเช็กอินหรือปักหมุด แต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจมาได้นานนับเกือบ 6 ทศวรรษ สำหรับ “มนต์นมสด” ร้านขายนมสดและขนมปัง ที่จุดเริ่มต้นมาจากการขายกาแฟบนรถกระบะ ย่านเสาชิงช้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แก้วละ 3 บาท และแม้จะต้องย้ายร้านถึง 4 ครั้ง แต่สุดท้ายก็หาทางมีร้านเป็นของตัวเองได้ในที่สุด

ปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 สาขา ในทุกวันภาพที่เห็นคือ ลูกค้าเบียดเสียดต่อคิวถึงหน้าประตู และถึงจะไม่มีที่จอดรถ ก็ใช่ว่าจะเสียโอกาสการขาย เพราะลูกค้าบางรายกลับยอมถูกล็อกล้อเพื่อให้ได้ซื้อสินค้ากลับไป ด้วยการตอบรับที่ดียาวนานขนาดนี้ ไม่แปลกใจหากมนต์นมสดจะถูกให้เป็นไอดอลของคนที่คิดจะเปิดร้านขายนม

คุณธนากูล วนิศรกุล

ย้ายร้าน 4 ครั้ง กว่าจะปักหลักได้ นำเทรนด์ ตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว

คุณธนากูล วนิศรกุล หรือ คุณโก้ ทายาทรุ่น 3 ในวัย 42 ปี เล่าว่า ก่อนจะเป็น “มนต์นมสด” คุณพ่อ หรือ คุณมนต์ วนิศรกุล ได้เรียนถึงแค่ชั้น ป.6 จากนั้นไปทำงานล้างแก้วล้างจานในร้านกาแฟอยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  ได้ค่าจ้างวันละ 2 บาท เป็นลูกจ้างนาน 15 ปี เจ้าของร้านเลิกกิจการ ตอนนั้นคุณพ่อเริ่มมีเงิน คิดอยากเปิดร้านแต่ทุนไม่พอ ไปเห็นคนขายก๋วยเตี๋ยวบนรถกระบะ เลยปิ๊งไอเดีย ดาวน์รถกระบะมาขายชา กาแฟ โอเลี้ยง ไข่ลวก นมร้อน ขนมปังสังขยา แถวเสาชิงช้า

คุณโก้ เล่าต่อว่า พ่อขายของบนรถกระบะได้เพียงปีเดียวก็ต้องย้าย เพราะโดนเทศกิจไล่ที่ ไม่ให้ขายช่วงกลางวัน หากจะขายให้ขายหลังสี่ทุ่ม ช่วงเวลานั้นลูกค้าที่ไหนจะซื้อ คุณพ่อเลยเลิกแล้ว ไปเช่าร้านเล็กๆ ริมถนนดินสอ ขายขนมปังปิ้ง ขายกาแฟแก้วละ 3 บาท แต่เสิร์ฟใส่แก้วฝรั่งเศสใบละ 35 บาท เป็นแก้วนิรภัย ล้างแล้วแก้วไม่บิ่นบาดปากลูกค้า ปักหลักขายได้ 5 ปี (พ.ศ. 2523–2527) เจ้าของขอที่คืน ทำให้ต้องหาร้านใหม่ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกล

 

“ร้านข้างซอยตรอกศิลป์กว่าจะมีชื่อเสียงใช้เวลานาน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา พนักงาน กทม.ขายได้ 10 ปี เจอปัญหาเดิมคือ เจ้าของขอที่คืน คราวนี้คุณพ่อกัดฟันหาที่เปิดร้านเป็นของตัวเองด้วยการยืมเงินญาติ และกู้ธนาคาร มาเซ้งตึกแถว 2 คูหา ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นเงินกว่า 7 ล้านบาท”

ในเมื่อคิดจะเปิดร้านเป็นของตัวเองอย่างจริงจัง ทายาทธุรกิจ เล่าว่า ทางครอบครัวทุ่มทุนตกแต่งร้าน เปลี่ยนโฉม ตึกแถวที่ดูธรรมดา ให้ทันสมัย สะอาดสะอ้าน หรูหรา ติดแอร์ ทำห้องกระจก ในสมัยนั้นเรียกว่าไม่มีร้านไหนทำกัน จำได้ว่าตอนนั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 มาช่วยเปิดร้านวันแรก ภาพที่เห็นคือ ลูกค้านับร้อยคนเบียดเสียดกันเข้ามาจนแน่นเต็มร้าน ขายดีมาก จนเตาไฟฟ้าที่ใช้ปิ้งขนมปังพัง เป็นภาพแห่งความประทับใจที่ไม่เคยลืมเลือน

“ร้านมนต์ในปี พ.ศ. 2538 ค่อนข้างทันสมัยกว่าร้านอื่นๆ เป็นห้องกระจก ติดแอร์ รับออร์เดอร์ตามโต๊ะ ลูกค้ากินก่อน จ่ายเงินทีหลัง แต่ทว่าเกิดปัญหา บางคนลืมจ่าย ประกอบกับคุณพ่อไปประเทศออสเตรเลีย ท่านไปเห็นฟาสต์ฟู้ดตามห้างลูกค้าต้องบริการตัวเอง จ่ายเงินเอง หาที่นั่งเอง ท่านเลยนำระบบนั้นมาลองใช้กับที่ร้าน ให้จ่ายเงินก่อน รอรับสินค้าหน้าเคาน์เตอร์ รวมถึงเปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษ ปรากฏว่าลูกค้าสูงวัยหายหมดเลย เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่คุ้นเคย แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กลับได้ลูกค้าเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้น”

ไม่อร่อย! อย่าขาย อายคนอื่น 

คุณโก้ เล่าต่อว่า นับจากนั้นมา ร้านมนต์นมสด ก็เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยแต่ละวันจะมีผู้คนทุกเพศ ทุกวัยแวะเวียนมารับประทาน เมนูก็เพิ่มขึ้น หลายๆ อย่างทางร้านทำเอง อาทิ ขนมปัง สังขยา แยมส้ม ช็อกโกแลต พุดดิ้ง คัสตาร์ดเค้ก เค้กโรล เค้กแยม เค้กส้ม เค้กนมสด นมอัดเม็ด แต่เมนูออริจินอลเลย คือ ขนมปังเนยน้ำตาล ขนมปังสังขยาใบเตย และนมสดรสหวาน

“ทางร้านเข้มงวดกับวัตถุดิบที่ใช้เป็นอย่างมาก ทำสดใหม่วันต่อวัน ไม่ใส่สารกันบูด ที่ร้านจะทำขนมปังเอง โดยน้องสาวคนเล็กที่ไปเรียนเบเกอรี่จากประเทศญี่ปุ่น ส่วนนมวัวจะรับจากฟาร์มในทุกเช้า นม 1 ลิตร ใช้เวลาต้มครึ่งชั่วโมง ห้ามผสมน้ำ ไม่ต้องใส่ใบเตย วิธีการต้มนม ทางร้านจะนำนมใส่หม้อ แล้วนำไปวางบนน้ำเดือดอีกที ส่วนสังขยา เวลาทานเข้าปาก ไม่ต้องกลืน จะไหลลงคอไปเอง จากนั้นความหอมจะอวลอยู่ในปาก”

คุณโก้ ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกอย่างที่ขายต้องอร่อย เพราะมันคือของกิน ภายนอกอาจจะเหมือนกัน แต่เข้าปากแล้วต้องแตกต่าง เพราะมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมาย ในหกโมงเช้าของทุกวัน ต้องทำขนมปัง ทำสังขยา ทำช็อกโกแลต ต้มนม ทุกอย่างเสร็จเกือบเที่ยง กว่าจะเปิดร้านได้ก็บ่ายสอง

ปัจจุบัน มนต์นมสด มีเพียง 4 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 3 สาขา และที่เชียงใหม่ 1 สาขา บริหารโดยลูก 4 คนของคุณมนต์ แต่ละคนจะรับผิดชอบคนละสาขา โดยในกรุงเทพฯ จะมีร้านมนต์นมสด ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นครัวกลางคอยส่งของให้

เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2562