แห่กวาด”เหรียญ-ธนบัตร”ร.9 ราคาพุ่ง5เท่าธนารักษ์จ่อออกรุ่นพิเศษ

แห่สะสมเหรียญ ธนบัตร แสตมป์ ในหลวง ร.9 เก็บเป็นที่ระลึกและบูชาเป็นสิริมงคล คนกรุง.-ตจว.เข้าคิวยาวเหยียดตามจุดแลกซื้อจนหลายแห่งหมดเกลี้ยง ส่งผลราคาเหรียญ-ธนบัตร พุ่ง 3-5 เท่าตัว พ่อค้าสบช่องฟันกำไร ปีหน้าธนารักษ์เตรียมเปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกรุ่นพิเศษ

พสกนิกรทั่วประเทศยังร่วมแสดงความไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่องนอกจากร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดแล้วประชาชนจำนวนมากยังพากันซื้อหาพระบรมสาทิสลักษณ์ หนังสือ ของที่ระลึก แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร ฯลฯ ที่หน่วยงานรัฐ ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ ผู้ค้าผู้ประกอบการนำออกจำหน่าย เพื่อเป็นที่ระลึกและบูชาเป็นสิริมงคล ส่งผลให้ตลาดของที่ระลึกของสะสมที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคลื่อนไหวคึกคักทั้งในกรุงเทพมหานครต่างจังหวัด โดยเฉพาะเหรียญที่ระลึกและธนบัตรเป็นที่ต้องการของตลาดมากเป็นพิเศษ

เหรียญ-แบงก์ ราคาพุ่ง 3-5 เท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจการซื้อขายเหรียญที่ระลึกและธนบัตรที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กรมธนารักษ์ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้แลกซื้อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ยังมีประชาชนเข้าคิวรอแลกซื้อล้นหลาม ส่งผลให้ราคาขยับขึ้นสูง 3-5 เท่าจากราคาที่เปิดให้แลก ยกตัวอย่าง เหรียญที่ระลึกรุ่นที่ตลาดนิยม 900 บาท เงินขัดเงา UNDP รางวัลแห่งความสำเร็จ ราคาเปิดให้แลก 1,600-1,800 บาท ราคาขายส่งประมาณ 2,400-2,600 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกในท้องตลาดทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท

เหรียญที่ระลึก 800 บาทเงิน (ขัดเงา) รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม ราคาตลาดปัจจุบันจำหน่ายกันอยู่ประมาณ 2,000 บาท ส่วนเหรียญที่ระลึกราคา 10-20 บาทที่จัดเป็นชุด ชุดละ 5 เหรียญนั้น ราคาตลาดอยู่ระหว่าง 300-400 บาท

“ธนบัตรที่ระลึกที่เปิดให้แลก อาทิ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ราคา 70 บาท เปิดให้แลก 100 บาท กับธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ให้แลก 200 บาท ราคาจำหน่ายในตลาดขณะนี้ประมาณ 300 บาท” ผู้ค้าส่งธนบัตรและเหรียญรายหนึ่งกล่าว

ดันธนบัตรรุ่นเก่าราคาพุ่งตาม

ส่วนธนบัตรที่ระลึกที่เปิดให้แลกหมดไปแล้วอาทิธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ราคาตลาดอยู่ระหว่าง 250-300 บาท หรือธนบัตรที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลราชาภิเษกสมรสและวันบรมราชาภิเษกครบ 60 ปี 2553 ราคา 100 บาท รูปในหลวงคู่พระราชินี ราคาในท้องตลาดพุ่งขึ้นถึง 400-500 บาท เนื่องจาก “ไม่มีของ” บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 บริบูรณ์ 5 ธันวาคม 2530 ราคาเปิดให้แลก60 บาท ที่มีข่าวว่าสัปดาห์หน้าจะเปิดให้แลกอีกนั้น ราคาขายส่งฉบับละ 200 บาท ราคาขายปลีกในตลาดทั่วไป 350-400 บาท

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าราคาธนบัตรที่ระลึกรัชกาลที่ 9 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาธนบัตร ร.9 ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดรุ่นเก่า ๆ ที่หมดไปแล้ว ราคาขยับขึ้นด้วย อาทิ ธนบัตรราคา 1 บาท ทั่วไป ราคา 200 บาทขึ้น ธนบัตร 10 บาท ราคา 80-100 บาท

“ตราไปรษณียากรที่ระลึกรัชกาลที่ 9 ที่ยังมีอยู่ในคลังของบริษัทไปรษณีย์ไทย ราคากลับไม่ขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเหรียญหรือธนบัตร โดยราคาขายทั่วไปในท้องตลาดบวกเพิ่มขึ้นชุดละ 100-200 บาทเท่านั้น”

พ่อค้ารายย่อยสบช่องฟันกำไร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากพิพิธภัณฑ์เหรียญถนนจักรพงษ์เมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ยังมีประชาชนรอคิวแลกเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยาวเหยียดเหมือนหลายวันที่ผ่านมาขณะที่นอกรั้วพิพิธภัณฑ์มีพ่อค้าแม่ค้าที่แลกเหรียญช่วงก่อนหน้านี้นำเหรียญมาขายเอากำไรโดยประชาชนบางส่วนที่ไม่ต้องการรอคิวสนใจสอบถามราคาและขอซื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะเหรียญรางวัลเกียรติยศด้านการพัฒนา ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2549 จากที่แลกมาในราคา 1,800 บาท เสนอขาย 3,000 บาท

แห่แลกซื้อเหรียญมงคลในหลวง

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า จากที่ได้นำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดเป็นชุดเรียกว่า ชุดเหรียญมงคล ชุดละ 5 เหรียญชุดละ 100 บาท อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สนใจแลกซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ได้รับความนิยมมาก โดยชุดเหรียญมงคล ประกอบด้วย 1)เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ทูลเกล้าฯถวาย “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพพระปรีชาสามารถด้านการพัฒนาทรัพยากรดินให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรไทย

2) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 3) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 4) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 50 ปี ฝนหลวงพระราชทาน และ 5) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 ส.ค. 2555

ทยอยนำ 24 รุ่น จัดชุดให้แลก

โดยเหรียญที่นำมาจัดชุดนั้น กรมธนารักษ์พิจารณาจากเหรียญที่มีการจัดสร้างไว้ และปัจจุบันยังคงมีอยู่รวม 24 รุ่น ซึ่งคาดว่าเหลือไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ จากก่อนหน้านี้มีอยู่ 3-4 ล้านเหรียญ แต่ยังไม่มีการสรุปยอดเหรียญคงเหลือทั้งหมดได้ว่าเหลืออยู่เท่าใด เนื่องจากประชาชนยังทยอยเข้ามาแลกต่อเนื่อง

“ตอนนี้เหรียญที่จัดชุด ชุดละ 5 เหรียญนั้น เราทยอยจ่ายแลกไปเรื่อย ๆ คาดว่ายังมีให้แลกได้อีก 1-2 วัน หากชุดนี้หมดจะนำเหรียญอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่มาจัดชุดให้แลกซื้อต่อ ชุดละ 5-10 เหรียญ เพราะยังมีเหรียญที่ราคา เหรียญละ 20 บาท รุ่นอื่น ๆ อยู่”

ยันกระจายให้ทั่วประเทศ

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า สำหรับการกระจายเหรียญเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศแลกซื้อนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดให้บริการ 3 จุด คือ สำนักบริหารเงินตรา (โรงกษาปณ์) รังสิต, พิพิธภัณฑ์เหรียญ บริเวณถนนจักรพงษ์ และหน่วยจ่ายแลกเหรียญ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พระราม 6 ส่วนต่างจังหวัดแลกซื้อได้ตามศูนย์กระจายเหรียญของกรมธนารักษ์ 7-8 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทุกแห่ง

ออกเหรียญที่ระลึกรุ่นพิเศษ

สำหรับการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง กำหนดรูปแบบ รายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องใช้เวลาอีกราว 6-8 เดือน จะเปิดให้จ่ายแลกในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือราว 1 ปีข้างหน้า โดยจะกระจายให้ทั่วถึงเพียงพอต่อความต้องการผ่านช่องทางธนาคาร และไปรษณีย์ด้วย นอกเหนือจากที่กรมธนารักษ์

เบื้องต้นจะผลิตทั้งเหรียญทองคำ เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ราคาต่ำสุดเป็นเหรียญทองแดง อยู่ที่เหรียญละ 100 บาท สำหรับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้อยู่ในระบบ ยังไม่มีรายงานว่ามีประชาชนเก็บไว้จนกระทบสภาพคล่องของเหรียญ เนื่องจากมีหมุนเวียนมากถึง 28,900 ล้านเหรียญ ซึ่งกรมธนารักษ์จะผลิตเพิ่ม กรณีมีเหรียญชำรุด หรือหายจากระบบ โดยปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าผลิตทั้งสิ้น 800 ล้านเหรียญ หรืออาจผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20%

ธนบัตรที่ระลึกมี 17 แบบ

นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธปท. เปิดเผยว่า ธนบัตรที่ระลึกที่ประชาชนสนใจและบางธนาคารนำออกมาจ่ายแลกช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 แบบ ได้แก่ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ชนิด 100 บาท จ่ายแลกราคา 200 บาท พร้อมแผ่นพับ และราคา 500 บาท พร้อมบรรจุภัณฑ์กล่องดนตรี และธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559 ราคา 70 บาท จ่ายแลกราคา 100 บาท ที่ผ่านมา ธปท.จัดพิมพ์ทั้งสิ้น 9,999,999 ฉบับ และ 20 ล้านฉบับ ตามลำดับ

กรณีมีความกังวลเรื่องธนบัตรที่มีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ร.9 อาจจะหมดไป ทำให้มีกระแสตามหาซื้อเก็บสะสม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงว่าอย่ากังวลเรื่องธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน เพราะธนบัตรปัจจุบันยังสามารถใช้ชระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่มีกำหนด และเมื่อออกธนบัตรแบบใหม่ก็ยังใช้ธนบัตรแบบเดิมได้ต่อไป

ธปท.ให้แลกแบงก์อีก 2 แบบ

แหล่งข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า ธนบัตรที่ระลึกทั้ง 2 รุ่น (84 พรรษา และครองราชย์ 70 ปี) จะไม่มีการจัดพิมพ์เพิ่ม หรือจัดสรรเพิ่มให้ธนาคารแล้ว ที่คงเหลือ ธปท.จะจัดเก็บจัดแสดงในงานต่าง ๆ และเก็บเป็นประวัติศาสตร์

เร็ว ๆ นี้ ธปท.จะจัดสรรบัตรธนาคารและธนบัตรที่ระลึกที่มีอยู่แล้วอีกอย่างละ1 ชุด ให้ธนาคารรับไปจ่ายแลกแก่ประชาชน ได้แก่ บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา 5 ธันวาคม 2530 ชนิดราคา 60 บาทซึ่งจ่ายแลกครั้งแรก 8 ธ.ค. 2530 และธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย ภาพประธานด้านหน้าเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชคู่กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชนิดราคา100บาท พิมพ์ออกใช้เมื่อ 2 ก.ย. 2545 และจ่ายแลกในราคา 100 บาท

แห่แลกซื้อธนบัตรแบงก์พาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานสำรวจการแลกจ่ายธนบัตรที่ระลึกรุ่น84พรรษา และ 70 ปีครองราชย์ ที่ธนาคารต่าง ๆ นำออกมาจ่ายแลกตั้งแต่ 17-28 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพนำธนบัตรที่ระลึกชุด 84 พรรษา จากคลังของธนาคาร 220,000 ฉบับ เบิกเพิ่มจาก ธปท. 800,000 ฉบับ นำออกมาจ่ายแลกแล้ว 1,020,000 ฉบับ รวมกับธนบัตรที่ระลึกชุด 70 ปีครองราชย์ ที่ได้รับจัดสรร 175,000 ฉบับ จ่ายแลกหมดแล้ว อยู่ระหว่างรอคำตอบจาก ธปท.ว่าจะเบิกเพิ่มได้หรือไม่

ธนาคารกรุงไทยได้รับจัดสรรธนบัตรชุด 84 พรรษาจาก ธปท. 200,000 ฉบับ จ่ายแลก27 ต.ค. แลกหมดภายใน 1 วันทุกสาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับจัดสรร 360,000 ฉบับ จ่ายแลกวันที่ 28 ต.ค. หมดทุกสาขาภายในครึ่งวัน ธนาคารทหารไทย รับจัดสรรธนบัตรรุ่น 84 พรรษา 150,000 ฉบับอยู่ในคลังของธนาคารตั้งแต่ปี 2554 130,000 ฉบับ กับที่เพิ่งเบิกจาก ธปท.เพิ่ม 20,000 ฉบับ ขณะนี้หมดแล้ว วันที่ 31 ต.ค.นี้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะเปิดให้ประชาชนจ่ายแลกธนบัตรที่ระลึกชุด 84 พรรษา ที่สำนักงานใหญ่ อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี ตั้งแต่ 08.30-16.30 น.

แบงก์ 84 พรรษาเกลี้ยง

รายงานจากธนาคารออมสินเปิดเผยว่า หลังเปิดให้ประชาชนจ่ายแลก “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” 2 รอบ คือ รอบแรก 18 ต.ค. ณ สำนักงานใหญ่ 93,000 ฉบับ ซึ่งหมดลงในวันเดียว และได้ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำธนบัตรรุ่นดังกล่าวที่ยังคงเหลือมาเปิดให้ประชาชนจ่ายแลกอีกครั้งวันที่ 26 ต.ค. ผ่าน 1,051 สาขาทั่วประเทศ 370,000 ฉบับ ปรากฏว่าหมดลงในวันเดียวเช่นกัน

แสตมป์หมดแล้วหมดเลย

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้ตราไปรษณียากรและแผ่นชีตที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ยังเหลืออยู่ในคลังเก็บกลางมีทั้งหมด 8 ชุด จากที่ได้จัดทำขึ้นรวม 70 ชุด (349 แบบพิมพ์) ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย และแต่ละชุดเหลืออยู่ไม่มาก อาทิ ตราไปรษณียากรที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษกสมรส เหลือ 261 ดวง แผ่นชีตลายทองที่ระลึกกาญจนาภิเษก เหลือ 120 แผ่น ชุดที่ยังเหลือมากที่สุด คือ แผ่นชีตที่ระลึกชุดพระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม 324,973 แผ่น แต่ละวันมียอดขอเบิกไปจำหน่ายกว่า 5 หมื่นดวง ส่วนที่ยังเหลืออยู่มากเป็นซองที่ระลึกวันแรกจำหน่าย มีทั้งซองที่ออกแบบพิเศษ พร้อมแสตมป์และตราประทับวันแรกจำหน่ายของตราไปรษณียากรชุดนั้น ๆ

“ที่สำคัญแสตมป์ที่ใช้ในกิจการ หรือแสตมป์รูปในหลวง ดวงละ 3 บาท ใช้แปะหน้าซองจดหมายทั่วไปไม่เหลือในสต๊อกแล้ว และที่ประชุม ปณท ยืนยันว่าจะไม่สั่งพิมพ์เพิ่ม เพราะธรรมเนียมปฏิบัติแสตมป์ที่ใช้ในกิจการจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเท่านั้น ส่วนการเตรียมจัดพิมพ์แสตมป์ใช้ในกิจการชุดใหม่ ต้องรอพระบรมราชานุญาตก่อน จากนั้นใช้เวลา 1-1 ปีครึ่งดำเนินการ”

ตจว.เข้าคิวแลกธนบัตรในหลวง

ด้านความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.หนองคายว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย สาขาหนองคาย ถนนมีชัย ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย มีประชาชนมาเข้าแถวต่อคิวจำนวนมากตั้งแต่ก่อนเปิดทำการ เพื่อรอแลกธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองหนองคาย อำนวยความสะดวกด้านการจราจร โดยได้แจกบัตรคิวทั้งหมด 600 ใบ หมดอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ทำให้หลายคนไม่มีบัตรคิว โดย 1 คนแลกได้ 2 ชุด เป็นธนบัตรชนิดราคา 100 บาท จ่ายแลกพร้อมแผ่นบรรจุชุดละ 200 บาท

ที่ธนาคารออมสิน สาขานครศรีธรรมราช วันที่ 26 ต.ค. มีประชาชนไปรอแลกธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ตั้งแต่ 05.30 น. โดยเข้าแถวรอคิวยาวเหยียด โดยธนาคารให้แลกได้คนละ 1 ฉบับ เพื่อกระจายให้ทั่วถึง ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน สาขานครศรีธรรมราช ได้รับจัดสรรจำนวน 400 ฉบับ ส่วนสาขาอื่น ๆ ได้รับจัดสรร 200-300 ฉบับ

นางกาญจนา คงคล้าย อายุ 67 ปี กล่าวว่า มารอคิวแลกธนบัตรที่หน้าธนาคารตั้งแต่ 05.30 น. เพราะต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกและบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และเก็บไว้ให้ลูกหลาน ปรากฏว่าธนบัตรดังกล่าวหมดเกลี้ยงภายในพริบตา และหลังวันที่ 29 ต.ค. 59 ตนตั้งใจจะเดินทางไปกราบถวายบังคมพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ