ศอตช.จัด3กลุ่มชดใช้ค่าเสียหายจํานําข้าว80% ตั้งกก.เพิ่ม2ชุดสืบเชิงลึก คาด15พ.ย.สรุปรายชื่อ

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 31 ตุลาคม ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุมตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวในส่วนความเสียหายอีกร้อยละ 80 หรือวงเงิน 1.42 แสนล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มอบหมายให้ ศอตช.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานปราบปรามทุจริตทั้งหมดในการตรวจสอบ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักนายกรัฐมนตรี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมวางแนวทางการตรวจสอบ โดยแบ่งกลุ่มผู้รับผิดชอบเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.รัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 2.ข้าราชการในกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 3.ผู้ประกอบการเอกชน อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมการอีก 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและสืบสวนข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งนี้ คาดว่าภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ศอตช.จะได้ข้อสรุปจากข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมด และจะทำให้ทราบรายชื่อบุคคลและหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าแต่ละหน่วยงานมีฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้อยู่แล้ว

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ตัวเลขความเสียหายร้อยละ 80 น่าจะสามารถเห็นภาพได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการระบุตัวเลขในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดร้อยละ 20 ไปแล้ว โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ทางคณะกรรมการระดับปฏิบัติการจะนำข้อมูลเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีพฤติการณ์เชื่อมโยงมาตรวจสอบร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชนอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากมีเอกชนจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายส่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของผู้รับผิดชอบกลุ่ม ครม.และคณะกรรมการใน กขช. แม้จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบในทางละเมิด แต่เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ส่วนบุคคลใดต้องมีส่วนรับผิดชอบในทางละเมิดนั้น จะต้องมีพฤติกรรมกำกับด้วย

 

ที่มา มติชนออนไลน์