ชุมพร คาบาน่า ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ นำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จด้วยความพอเพียง

ชุมพร คาบาน่า ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ นำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จด้วยความพอเพียง

จากวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ส่งผลให้ในราว พ.ศ. 2542 ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต ล้มไม่เป็นท่า แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะพลิกฟื้นกิจการ โดยการน้อมนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ร.9 มาบริหารจัดการ จนปัจจุบันรีสอร์ตดังแห่งนี้ ได้การยอมรับให้เป็นต้นแบบ ศูนย์การเรียนรู้การนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จด้วยความพอเพียง

คุณวริสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของกิจการรุ่นสอง ให้ข้อมูลว่า หลังจากเรียนจบวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้ามารับช่วงดูแลกิจการต่อจากครอบครัว แต่ทำอยู่ไม่นานก็ประสบปัญหาการเงินครั้งใหญ่จาก “ต้มยำกุ้ง” ต้องเป็นหนี้กว่า 200 ล้านบาท จึงหาทางแก้ไข ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในรีสอร์ต

โดยปรับปรุงพื้นที่ใหม่ ให้มีสวนเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ เพื่อปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัว และสร้างเครือข่ายกับชาวบ้านในพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผลิตสบู่เหลว แชมพู น้ำยาอเนกประสงค์จากสมุนไพร

นอกจากนี้ เศษอาหารหรือเศษวัตถุดิบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ทิ้ง แต่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ นำเศษอาหารไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ นำน้ำมันพืชที่เหลือใช้มาผลิตไบโอดีเซล เติมรถ เรือ และเครื่องปั่นไฟ ที่ใช้ในรีสอร์ต

ระยะเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ทำให้เขาสามารถลดหนี้สินลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารธุรกิจตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในลักษณะการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจกับสังคม ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างลงตัว ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

กระทั่งราว พ.ศ. 2550 เศรษฐกิจโลกต้องประสบกับปัญหาใหญ่อีกครั้ง ในนาม “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ทำให้มีชาวต่างชาติย้ายเงินเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่บริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต นั้น นับเป็นเป้าหมายของนายทุนต่างชาติในการเข้ามาถือครองพื้นที่ เพราะเป็นที่ดินติดชายหาดสวยงาม และยังเป็นที่นิยมสำหรับนักดำน้ำ ดูฉลามวาฬของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

แต่คุณวริสร มีความเชื่อว่า ถ้ายังยึดถือปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ยังไงเขาต้องรอด

“ถ้าเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินโดยทั่วไป ก็ขายกิจการเพื่อให้เหลือเงินก้อนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ชุมพร คาบาน่า เป็นเหมือนศูนย์รวมของความรัก ความผูกพัน ความศรัทธา ดังนั้น ในช่วงวิกฤตนี้ ยังทนรับภาระหนี้สินและคิดว่าแนวทางของพระองค์ท่าน สามารถนำพาให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งหากมองในแง่ของธุรกิจหลายคนอาจมองว่าไม่ฉลาดนัก แต่สำหรับผม การรักษาชุมพร คาบาน่า ไว้ ไม่ใช่เพื่อเป็นธุรกิจของครอบครัว แต่เพื่อคนไทยทุกคน โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ให้ชุมพร คาบาน่า เป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม สร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน” คุณวริสร กล่าว

เมื่อตัดสินใจสู้ต่อ ไม่ยอมขายชุมพร คาบาน่า ให้แก่นายทุนต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะโดนบีบด้วยวิธีการต่างๆ นานาก็ตาม แต่ด้วยความช่วยเหลือของกัลยาณมิตรและความเมตตาของผู้ใหญ่ที่เคารพรักที่ยึดถือหลักธรรมนำธุรกิจ ที่เห็นว่าการต่อสู้ของชุมพร คาบาน่า ไม่ได้เพื่อเป้าหมายทางธุรกิจ แต่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ธุรกิจเพื่อครอบครัว แต่เพื่อชาวไทยทุกคน โดยให้ชุมพร คาบาน่า เป็นเครื่องมือในการสร้างระบบเศรษฐกิจ

จึงเกิดโครงการ “รักษาชุมพร คาบาน่า รักษาแผ่นดินของเรา” โดยมีรายละเอียดตามคำชี้แจงจากคุณวริสร คือ ชุมพร คาบาน่า ได้ร่วมมือกับ บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม จำกัด ในการระดมทุนเพื่อจะรักษาพื้นที่ของชุมพร คาบาน่า ไว้ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ “ลงขันธรรมธุรกิจ” ได้ 2 รูปแบบ คือ 1. แบบมีส่วนร่วม คือ การบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีขั้นต่ำ โดยสามารถขอเงินลงขันคืนได้ 2. แบบมีผลตอบแทน คือ การให้ธรรมธุรกิจกู้ยืมเงิน ขั้นต่ำ 11,000 บาท (ได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี) สามารถขอคืนเงินได้เช่นกัน หรือการซื้อข้าวล่วงหน้าเพื่อเซฟชุมพร คาบาน่า ในราคา 10,000 บาท (ถุงละ 250 บาท) รวมค่าจัดส่งทั่วประเทศ ทยอยส่งตามความต้องการของลูกค้า

ในอนาคต ชุมพร คาบาน่า จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม สามารถขายหุ้นให้ประชาชนเป็นการทั่วไปได้เหมือนบริษัทมหาชน แต่ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม และจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น อย่างจริงจังและเต็มรูปแบบ” คุณวริสร กล่าวทิ้งท้าย