“ขอบยางแก้วเก็บความเย็น” จุดเสี่ยงสะสมเชื้อโรค ภัยเงียบที่มากับเทรนด์

“ขอบยางแก้วเก็บความเย็น” จุดเสี่ยงสะสมเชื้อโรค ภัยเงียบที่มากับเทรนด์

แก้วเก็บความเย็น – ปัจจุบัน เหล่าคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจกระแสรักษ์โลกกันมากขึ้น มีการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก หรือแม้กระทั่งแก้วใส่เครื่องดื่ม ก็หันมาใช้กระบอกหรือแก้วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือแก้วเก็บความเย็น ที่เคยฮอตฮิตใช้กันอยู่ช่วงหนึ่ง

เว็บไซต์ Anamai Media สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย ได้แชร์บทความเกี่ยวกับ ภัยอันตรายที่แฝงมากับการใช้แก้วเก็บความเย็น โดย #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะประชาชนที่นิยมใช้แก้วเก็บความเย็น ต้องล้างทำความสะอาดแก้วทั้งภายในขอบยางฝาแก้ว และร่องขอบยางด้านใน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่จะมีสิ่งสกปรกอุดตัน เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แก้วเก็บความเย็น เป็นหนึ่งทางเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งแก้วประเภทนี้สามารถเก็บความเย็นได้นานกว่า 12 ชั่วโมง และทำจากสเตนเลส (stainless steel) เกรดครัว (Kitchen Grade) จึงทนต่อการเจาะและเป็นสนิม ฉนวนสุญญากาศแบบติดผนังสองชั้น ข้างในมีช่องว่างเล็กๆ เป็นสุญญากาศ ทำให้สามารถรักษาความเย็นและความร้อนข้างในไว้ได้อย่างยาวนาน สามารถเข้าเครื่องล้างภาชนะได้ มีหลากหลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดเป็นทรงแก้วน้ำ (TUMBLER) ขนาด 30 ออนซ์ มีฝาปิดแก้วน้ำ แผ่นแม่เหล็กปิด-เปิด (Mag Slider) และขอบยางฝาแก้วด้านใน ที่ช่วยป้องกันการรั่วไหลหรือกันน้ำซึมออกด้านนอก และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกแก้ว ทำให้สามารถรักษาสภาพเครื่องดื่มเย็นหรือเครื่องดื่มร้อนได้อย่างยาวนาน

“ทั้งนี้ การล้างทำความสะอาดแก้วเก็บความเย็น ควรล้างให้สะอาดทุกซอกทุกมุม เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมเชื้อโรคแบบถาวร โดยเฉพาะการทำความสะอาดจุดเสี่ยงที่มีสิ่งสกปรกอุดตันเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ขอบยางฝาแก้ว และร่องขอบยางด้านใน โดยเปิดแก้วและฝาแก้วแยกจากกัน ดึงขอบยางฝาแก้วออก เช็ดคราบสกปรกขอบยางฝาแก้วและร่องฝาแก้ว ทำความสะอาด ตัวแก้ว และฝาแก้ว ทั้งภายในและภายนอกแก้ว ด้วยน้ำยาล้างแก้วหรือน้ำยาล้างจาน และล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยน้ำเปล่า และคว่ำหรือเช็ดให้แห้ง และเก็บในที่ที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและเชื้อราที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 17 ตุลาคม 2562