เครือข่ายราชบุรีโมเดล เปิดหลักฐานผลไม้ไร้สารตกค้าง ร้องลุงตู่อยู่ข้างเกษตรกร

เครือข่ายราชบุรีโมเดล อ่านแถลงการณ์ที่รัฐสภา เปิดหลักฐานผลไม้ไร้สารตกค้าง ร้องลุงตู่อยู่ข้างเกษตรกร

ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรโครงการ “ราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลกกรมวิชาการเกษตร” เปิดข้อเท็จจริงประเด็นพาราควอต เกษตรกรราชบุรีเพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ไร้ผลตกค้าง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค วอน นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดอ่านข้อมูลสักนิด ก่อนคิดตัดสินใจ

นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้ว เข้าใจถึงปัญหาและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่รับผิดชอบพิจารณาแนวทางการควบคุมสารเคมีเกษตร จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ไม่ได้ตัดสินใจหรือฟันธงว่าจะแบนทั้ง 3 สาร โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นสำคัญ (รับฟังแบบเต็มได้ที่ https://youtu.be/nfRdyrFahYE และ https://youtu.be/KZxIBMRWgf0)

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรในโครงการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาโครงการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ได้พิสูจน์แล้วว่า การอบรมเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี ยืนยันได้ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามที่เป็นข่าว พร้อมแสดงผลตรวจสุขภาพเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังโครงการ ย้ำการกระทำและใส่ร้ายเกษตรกร ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนพุ่งจากการกักตุนสารเคมี ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า กระทบไกลถึงเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในระยะยาว

นอกจากนี้ การกล่าวอ้างจากเอ็นจีโอถึงผลวิจัยเรื่องการพบพาราควอตในขี้เทาเด็ก กรณีแม่สู่ลูก พบว่า ตามที่นักวิจัยแจ้งว่าได้เก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปรากฏได้ตรวจสอบกลับไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว ได้รับการชี้แจงว่า ไม่มีข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ผลการวิจัยมาจากไหน (หลักฐานตามเอกสารแนบ) รวมทั้ง เอ็นจีโอกล่าวอ้างถึงการพบสารตกค้างในพื้นที่หลายแห่ง แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐได้ตรวจสอบซ้ำกลับไม่พบการตกค้างพาราควอตแต่อย่างใด จึงอยากให้นายกฯ เปิดอ่านข้อมูลที่แท้จริงก่อนภาคเกษตรกรรมไทยจะล่มสลายในยุคของท่าน

นายสุชัช สายกสิกร เกษตรกรจังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมว่า เกษตรกรสับสนเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบัน เหมือนเป็นหนูทดลองยาให้กับภาครัฐ ยกตัวอย่าง วันนี้ รัฐบอกให้เกษตรกรออกมาอบรมเพื่อให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และสามารถซื้อได้อย่างถูกกฎหมาย แต่อีกวันบอกว่า ไม่สามารถซื้อได้แล้วตั้งแต่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป ใครซื้อใช้ โดนจับปรับผิดกฎหมาย หรือ 50 ปีที่แล้วบอกว่า พาราควอต ปลอดภัย แต่วันนี้ บอกว่า ไม่ปลอดภัย จะหาสารทดแทนใหม่มาให้ ดังนั้น เกษตรกร จึงขอรับฟังและเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ นำหลักฐานมาแสดงว่า พาราควอต มีผลตามคำกล่าวอ้างจริง และสารทดแทนที่เสนอมานั้นปลอดภัยในราคาและประสิทธิภาพที่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่ต้องการแบนนำเสนอข้อมูลมานั้น เป็นการกล่าวหาลอยๆ และสิ่งที่เรารับไม่ได้คือกล่าวหาว่า “เกษตรกรเป็นฆาตกร”

เกษตรกรเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรีที่รับฟังข้อมูลทั้งสองด้าน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สารเคมีทั้งสามตัวนี้ คงโดนแบนไปนานแล้ว เหตุที่คณะกรรมการฯ ตัดสินไม่แบน เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาโดยตลอดว่า ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชัดเจนว่าพาราควอตส่งผลต่อสุขภาพ และไม่มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมตามที่เอ็นจีโอกล่าวอ้าง ส่วนการขึ้นป้ายของโรงพยาบาลต่างๆ นั้น บอกว่ามีคนเสียชีวิตจากยาฆ่าหญ้ากว่า 600 คนต่อปี แต่ในความเป็นจริง สถิติของกระทรวงสาธารณสุข มีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละมากกว่า 50,000 ราย มากกว่ายาฆ่าหญ้าหลายเท่า เกษตรกรจึงอยากฝากกระทรวงสาธารณสุขไป “แบนบุหรี่” หากห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

“นับตั้งแต่วันนี้ เกษตรกรจะไม่ยอมให้ใครมาใส่ร้าย ทำลายเศรษฐกิจภาคการเกษตร และดูถูกอาชีพเกษตรกรอีกต่อไป เกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านราย พร้อมที่จะออกมาแสดงพลังทุกเมื่อ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะดำเนินการตัดสินอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ยึดถือข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยมีหัวใจสำคัญ เกษตรกรต้องไม่เดือดร้อนกับวิธีการแก้ปัญหา เกษตรกรตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามอย่างผิดปกติถึงวิธีการแบนสารสามตัวนี้ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ถูกคุกคามกดดันมาโดยตลอด ได้ใช้ความรู้ของท่านในการพิจารณาอย่างอิสระ” ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวสรุป