‘ทูลกระหม่อมปู่’แรงบันดาลใจ’พระองค์ภา’ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส

ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การดำเนินงานโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดการประชุม “กำลังใจฯ 1 ทศวรรษ สู่นวัตสังคมไทย” เพื่อระดมความคิดเห็น นำเสนอผลงานวิจัย นำมาประกอบการพิจารณาทิศทางการดำเนินงานต่อไป

การนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสเปิดงานตอนหนึ่งความว่า ข้าพเจ้าเริ่มโครงการนี้ ประการหนึ่งเพราะได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย อีกประการหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษาด้านนิติศาสตร์และต่อมาได้ทำงานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นว่าปัญหากลุ่มคนด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงเป็นที่มาของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นจากกลุ่มผู้ต้องขัง

dsc_2311

“ข้าพเจ้ามีความตั้งใจว่าจากนี้อาจมีการตั้งกลุ่ม หรือชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้คนที่เคยผ่านโครงการกำลังใจฯมาแล้ว ได้มารวมตัวกันและทำประโยชน์ให้สังคม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นสมาชิกใหม่ให้สามารถกลับไปยืนในสังคมได้อย่างสง่างาม อีกประการหนึ่งที่โครงการต้องทำต่อไป คือการพยายามสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย ผ่านการทำกิจกรรมการศึกษาข้อมูลวิชาการภายในและต่างประเทศ ในการวิจัยในประเด็นต่างๆ และนำร่องการปฏิบัติ ซึ่งหากเกิดผลดีก็จะส่งให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักรับไปดำเนินงานเป็นงานประจำ”

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวเสนอความคิดเห็นต่อการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯ ซึ่งมีพระองค์ทรงรับฟัง ว่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ พิจารณาจากจำนวนคดียาเสพติด จำนวนผู้ต้องหา นักโทษยาเสพติด การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ และเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ความรุนแรงปัญหายาเสพติดของประเทศไทยที่รุนแรงที่สุด คิดว่ามาจากการขาดความรู้ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน นำไปสู่ปัญหา เช่น ใช้มาตรการความรุนแรงจากรัฐต่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างการประกาศสงครามกับยาเสพติด ที่เรียกคะแนนนิยมมากกว่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การสร้างวาทกรรมต่อยาเสพติดเกินจริง

dsc_2304-1

ทั้งนี้ ตนได้ประเมินต้นทุนนโยบายการปราบปรามยาเสพติด พบว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลไทยปี 2542-2559 รวม 18 ปี ใช้เงินประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ต้องเสียไป ระหว่างปี 2551-2558 รวม 8 ปี มูลค่าความเสียหาย 5 แสนถึง 1 ล้านล้านบาท

“คิดว่าถ้าไม่มีโครงการกำลังใจฯ ความไม่รู้ในเรื่องยาเสพติดของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐจะยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากกว่าเดิมจนเราไม่อาจจินตนาการความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะการเพิ่มงบประจำปี การเพิ่มกำลังคน

dsc_2573

img_2759

“การที่โครงการกำลังใจฯ ได้แปลผลงานวิจัยต่างประเทศ สนับสนุนให้มีการทำวิจัยเรื่องยาเสพติดควบคู่ไปด้วย ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง นำสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนนโยบายและตัวกฎหมายยาเสพติด ถือเป็นสถาบันที่เปรียบได้ดั่งแสงเทียนนำทางสังคมไทย” รศ.สังศิตกล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา มติชนออนไลน์