ยกเลิกพาราควอต และสารเคมีเกษตร ชาวสวนผลไม้จันทบุรีผวา

ของขวัญใหญ่ หรือ หายนะ ยกเลิกพาราควอต และสารเคมีเกษตร ชาวสวนผลไม้จันทบุรีผวา กระทบส่งออกแสนล้านบาท แนะทางออกไร้ข้อขัดแย้ง

เรื่องที่ใหญ่ที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ภาคการเกษตรของไทย ความขัดแย้งลุกลามขยายวงกว้าง กระทบไปยังประชาชนหลายกลุ่ม หลายองค์กร หลายหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดอาจกระทบกับรัฐบาลทั้งแง่บวกและลบ เมื่อของขวัญปีใหม่ คือ การยกเลิกใช้ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส แต่อาจเป็นการทำลายโครงสร้างปัจจัยการผลิต สร้างความหายนะต่ออาชีพเกษตรกรไทย และอุตสาหกรรมเกษตร

นายเชิดชัย จิณะแสน เกษตรกรต้นแบบ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายว่า สารเคมีทั้งสามชนิด ใช้ในประเทศไทยมาประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยไม่เสียภาษีนำเข้า เพราะต้องการลดราคาต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการเกษตรระดับต้นของโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้เป็นปัจจัยการผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร

สภาพภูมิอากาศของไทย ง่ายต่อการเกิดโรค แมลง และวัชพืช ประกอบกับระบบชลประทานไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เดิมเกษตรกรต้องเผาหญ้าหรือวัชพืชก่อนทำเกษตร และใช้สารเคมีเกษตรเพื่อควบคุมวัชพืชนอกเขตพื้นที่ชลประทาน และเมื่อทางการสั่งงดการเผา เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และหากห้ามเผาหญ้าและห้ามใช้สารเคมี เกษตรกรจะทำเช่นไร

ดังนั้น นายเชิดชัย จิณะแสน จึงเสนอแนะทางออกเพื่อลดความขัดแย้งของ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการให้แบน และกลุ่มที่ต้องการให้ใช้

  1. ให้ใช้มาตรการการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามประกาศฯ ของกระทรวงเกษตรฯ จะมีผลบังคับใช้ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็นไว้อย่างดี
  2. เมื่อมีสารเคมีชนิดใหม่ที่มีขีดความสามารถ ทั้งคุณสมบัติ, ราคา, ความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าสารตัวเดิม จึงค่อยยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิด ให้โอกาสเกษตรกรปรับตัว เพื่อลดความขัดแย้ง หน่วยงานราชการต้องรับรองวิธีการทดแทน ไม่กระทบเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม
  3. เกษตรกรต้องต่อสู้กับโรคระบาด, ภัยแล้ง, น้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากยกเลิกใช้โดยไม่มีสิ่งทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่เกษตรกร สร้างความเสียหายต่อการผลิตสินค้าเกษตร กระทบการส่งออก และทำให้ GDP ภาคการเกษตรและภาพรวมของสินค้าทั่วประเทศลดลง
  4. การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ดีที่สุด รัฐบาลควรส่งเสริมให้มากที่สุด เช่นให้ โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงแรมร้านอาหารภัตตาคาร และหน่วยงานต่างๆ ช่วยรับซื้อสินค้าอินทรีย์ ประกันรายได้ มีการอุดหนุนเงินหรือปัจจัยอื่นให้เกษตรกรผู้ทำอินทรีย์ แต่เกษตรกรไทยไม่สามารถทำอินทรีย์ทั้งประเทศได้ ควรให้โอกาสตามขีดความสามารถ และตามพื้นที่ชนิดของสินค้าเกษตรที่จำเป็นต้องใช้เคมีหรือระบบ GAP

นอกจากนี้ นายกิตติ จันทวิสูตร เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี กล่าวว่า “ถ้าจะเลือกแบน ควรแบน คลอร์ไพริฟอส ที่เป็นสารกำจัดแมลง เกษตรกรรับได้ เพราะมีสารตัวอื่นทดแทนมากมาย แต่ถ้ามีการแบน พาราควอตและไกลโฟเซต เกษตรกรจะเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่มีสารใดมาทดแทนช่วยในการกำจัดวัชพืชได้ดี แม้ว่าจะมีสารกลูโฟซิเนต แต่ก็มีราคาแพงกว่ามากและประสิทธิภาพสู้สารทั้ง 2 ตัวไม่ได้ อีกทั้ง สารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 ตัว ถ้าอันตรายจริงตามการปั่นกระแสของเอ็นจีโอ เกษตรกรคงตายกันไปก่อนหน้า เพราะสารทั้งสองเกษตรกรใช้กันมาร่วม 40-50 ปีแล้ว วิธีการที่เหมาะสมที่สุดคือ มาตรการควบคุมการใช้ตามมติก่อนหน้านั้นในฤดูกาลหนึ่งๆ เฉพาะจังหวัดจันทบุรี มีการส่งผลไม้ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ รวมกันไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท”

“อาวุธปืนเป็นสิ่งที่ใช้ฆ่ากันได้ ในแต่ละปีมีคนตายจากอาวุธปืนจำนวนมาก แต่รัฐก็ไม่ได้แบนอาวุธปืน ยังอนุญาตให้พลเมืองสามารถครอบครองอาวุธปืน และพกพาได้ โดยการขออนุญาตจากรัฐ เหล้า บุหรี่ เป็นสารเสพติด มีคนตายแต่ละปีจากสิ่งนี้จำนวนมาก แต่รัฐก็เพียงควบคุมการดื่มและสูบ ไม่ได้แบน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ดื่มมากก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐก็ปล่อยให้จำหน่ายได้อย่างเสรี”

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องคิดอย่างรอบคอบการจะดำเนินการนโยบายใด จะต้องไม่ทำให้คนอีกกลุ่มเดือดร้อน ถ้ามีการแบนสารกำจัดวัชพืช 2 สาร กลุ่มคนที่เดือดร้อนมากจะเป็นเกษตรกร อย่าลืมนะครับเกษตรกรต่างก็มี 1 เสียงเท่ากับพวกเอ็นจีโอ ท่านจะแน่ใจได้อย่างไร ถ้าท่านเลือกข้างเอ็นจีโอแล้ว เขาจะเลือกท่าน ท่านได้สังเกตไหมว่า วันนี้ ฝั่งที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลเงียบสนิทมากในเรื่อง 3 สาร กลุ่มเอ็นจีโอกับพรรคภูมิใจไทยมีอะไรแอบแฝงไหม

“ผมทำเกษตรอินทรีย์มา 18 ปี ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลในการพยายามให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การลดสารเคมี แต่ไม่ควรนำประเด็นที่ว่าให้ประเทศไทยเป็นอินทรีย์ทั้งหมด โดยจะต้องยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องการควบคู่ไปกับการทำเกษตรเคมี และเกษตรปลอดภัย หรือ GAP” นายเชิดชัย กล่าวสรุป