ชีวิตดีๆ ที่ (ไม่) ลงตัว! เมล์ไทย VS เมล์พม่า บริการสุดต่าง-ราคาคนละขั้ว

ชีวิตดีๆ ที่ (ไม่) ลงตัว! เมล์ไทย VS เมล์พม่า บริการสุดต่าง-ราคาคนละขั้ว

เมล์พม่า 5 บาท – เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และอดีตแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก บอกเล่าเรื่องราวระบบขนส่งสาธารณะของเมืองหลวงเก่า และ ศูนย์กลางการค้าสำคัญของประเทศ อย่าง นครย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีใจความว่า

นายชัชชาติได้ไปทำบุญออกพรรษาและไหว้พระเจดีย์ชเวดากอง ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เขาไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนเมืองย่างกุ้งนานมาก สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนว่าเมืองเปลี่ยนไปเยอะสิ่งหนึ่งเลย คือ ระบบขนส่งสาธารณะอย่าง รถเมล์

แต่ก่อน รถเมล์ของเมืองย่างกุ้ง มีจำนวนเส้นทางมากถึง 357 เส้นทาง มีผู้ประกอบการจำนวนมาก รถเมล์ 4,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถเก่า ทรุดโทรม มีสภาพค่อนข้างแย่ คุณภาพการให้บริการไม่ดี จนจำนวนคนใช้รถเมล์ในย่างกุ้งลดลงเรื่อยๆ (น่าจะคล้ายๆ บ้านเรา) ต่อมา รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองย่างกุ้ง ได้ทำการปฏิรูปรถเมล์ครั้งใหญ่ โดยมีการก่อตั้ง Yangon Region Transport Authority (YRTA) ไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2016 และ ตั้งระบบ ํYBS Yangon Bus System โดยมีการจัดสายรถเมล์ใหม่เหลือประมาณ 90 สาย มีบริษัทรถเอกชนร่วมให้บริการ 20 บริษัท จัดหารถใหม่จากจีนและเกาหลีมาวิ่ง มีรถให้บริการรวมทั้งสิ้น 5,319 คัน

YBS เริ่มให้บริการครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม 2017 หรือเมื่อเกือบสามปีที่ผ่านมา ค่าโดยสารทั่วไปอยู่ที่เที่ยวละ 200 จ๊าด (5 บาท) โดยรถเมล์เป็นรถติดแอร์ทั้งหมด ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ แต่ใช้วิธีการจ่ายเงินที่ตู้เก็บเงินด้านหน้าแทน รถเมล์ของที่นี่ยังไม่มีระบบ E-Ticket แต่น่าจะกำลังรอดำเนินการติดตั้งอยู่

นายชัชชาติ เล่าต่อว่า ตนได้สอบถามไกด์ชาวเมียนมา ว่า รถเมล์บริการเป็นอย่างไร ไกด์สามคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รถเมล์บริการดีขึ้น และ แอร์เย็นมากๆ ส่วนเรื่องที่บริษัทในระบบ YBS จะมีกำไรหรืออยู่รอดไหม นายชัชชาติ กล่าวว่า เขายังไม่เห็นข้อมูลที่ชัดเจน แต่การทำระบบขนส่งแบบนี้ เขามองว่าอย่างน้อย ก็ได้ใจประชาชนไปมากเลยทีเดียว

นอกจากตัวรถเมล์แล้ว ป้ายรถเมล์ที่เห็นทั่วทั้งเมืองย่างกุ้ง มีการก่อสร้างใหม่ตามแบบมาตรฐาน มีที่นั่งกันแดดกันฝน มีชื่อป้ายชัดเจน และ มี app สำหรับบอกตำแหน่งป้ายรถเมล์ที่อยู่ใกล้ และ สายรถเมล์ที่จะใช้เดินทางในเมืองย่างกุ้งอย่างสะดวกด้วย เรื่องรถเมล์เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่ารถไฟฟ้าในการแก้ไขปัญหาจราจร และช่วยการเดินทางของคนจำนวนมากใน กทม. และใช้เงินลงทุนน้อยกว่ารถไฟฟ้าเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจาก https://www.mmbiztoday.com/…/ybs-reaches-one-year-mark-gove…

ตัดภาพมาที่บ้านเรา เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีประกาศปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะ หรือรถร่วม – ขสมก. แต่ยังมีการใช้รถเมล์คันเก่าที่เป็นรถเมล์ร้อน ปะปนไปกับรถเมล์แอร์กันอยู่เลย ซึ่งการประกาศปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านลบ

หลายคนรู้สึกว่า ไม่สมควรปรับราคาขึ้นเท่าไหร่ เพราะการให้บริการในบางสาย ไม่สมเหตุสมผลกับราคาที่เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก อีกทั้ง ประชาชนยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เยอะเกินไป ควรปรับระบบขนส่งให้เป็นรถใหม่ ไม่ต้องเข้าอู่บ่อยๆ มารยาทของพนักงาน ทั้งการขับรถ และบริการเก็บเงิน รวมถึงการตรงต่อเวลา ให้ดีเสียก่อน หากปรับแล้วจะมีการขึ้นราคาอีก ก็ไม่มีข้อกังขาอะไร

“ตอนยังไม่มีการขึ้นค่ารถ ค่าใช้จ่ายต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 100 บาท แบ่งเป็นค่ารถ ประมาณ 30 บาท แต่ขึ้นราคาแค่ 1 – 2 บาท ก็ได้รับผลกระทบ แต่ไม่เยอะเท่าคนรายได้น้อย หากจะปรับขึ้นค่าโดยสาร ก็อยากให้มีการปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ดีกว่าเดิมก่อน …” คุณนันท์ วัย 32 ปี พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์

ด้านข้าราชการ รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ในการขึ้นราคา ตนไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก เพราะไม่ได้ใช้บริการประจำ แต่คนที่ใช้บริการประจำคงได้รับผลกระทบกันพอสมควร ส่วนตัวเห็นว่าไม่สมควรขึ้นราคา เพราะเท่าที่เห็น บริการและการตรงต่อเวลายังไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก ก็อยากให้ปรับปรุงด้านบริการและความตรงต่อเวลามากกว่านี้

“วันหนึ่ง ใช้เงินไปประมาณ 100 – 150 บาท แยกเป็นค่ารถเมล์ไป-กลับ ประมาณ 50 บาท พอปรับขึ้นราคาก็รู้สึกว่าเราได้รับผลกระทบ เพราะต้องนำเงินค่ากินอยู่ระหว่างวัน มาแบ่งจ่ายค่ารถที่เพิ่มขึ้น จริงๆ มันไม่ควรขึ้นเท่าไหร่ เพราะการให้บริการรถบางสาย ไม่เหมาะสมกับราคา ควรปรับระบบขนส่งให้เป็นรถใหม่ ไม่ต้องเข้าอู่บ่อยๆ พนักงานมีมารยาท ทั้งการขับรถ การเก็บเงิน แล้วก็ตรงเวลา ถ้าปรับแล้วจะขึ้นราคาอีก ก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าอะไร” คุณน้ำ อายุ 21 ปี และ คุณฮัท อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ให้สัมภาษณ์

ก็ได้แต่หวังว่า ขนส่งบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในเร็วๆ นี้ …