ตลาดแรงงานจ่อลอยแพเกลื่อน-นศ.จบใหม่หางานยาก จับตาปี’63 ใกล้ชิด

ตลาดแรงงานส่งสัญญาณลอยแพเกลื่อน-นักศึกษาจบใหม่ก็หางานทำยากเซ่นพิษสงครามการค้า

แรงงานจ่อโดนลอยแพเกลื่อน – นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสติดลบ 1.5-2% สะท้อนถึงการจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอลงตามไปด้วย โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาคการผลิต การผลิตเพื่อส่งออก โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่งที่ช่วงนี้ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยยอมรับว่าขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการจ้างงานลดลง ประกอบกับบางส่วนปรับมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นทั้งหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2563 อีกประมาณ 5.24 แสนคน อาจต้องประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลคงต้องประคับประคองด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายในแทน

“สัญญาณการเลิกจ้างจะเริ่มจากมาตรการเบาไป เช่น การเริ่มไม่รับพนักงานคนใหม่ แทนตําแหน่งที่ว่างลง, การใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ, และหนักขึ้นเป็นการเลิกจ้างบริษัทภายนอกที่เกี่ยวกับแรงงาน, การลดค่าล่วงเวลา, การลดชั่วโมงทำงานหรือลดกะหรือทําบ้างปิดบ้าง, การปิดไลน์การผลิตหรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น, การลดแรงงานกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงทดลองงานไม่ถึง 4 เดือน จนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เปิดโครงการเกษียณก่อนเวลาหรือสมัครใจลาออก แรงงานที่มีความเสี่ยง เช่น อายุ 40 ปีขึ้นไปหรือไม่ผ่านการประเมิน” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการปิดโรงงานและการเลิกจ้างสูงขึ้น เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ปิดกิจการและเลิกจ้างคน รวมถึงภาคบริการก็มีการเลิกจ้างพนักงานจํานวนมากของบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกโดยตรงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง แต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามใกล้ชิด

ปัจจุบันแรงงานไทยมีอยู่ประมาณ 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งการส่งออก การลงทุน การบริโภคลดลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตในปี 2562 เป็นปัจจัยกดดันการจ้างงานปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป คือ การเริ่มสู่ยุคดิจิตอลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น, เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง, เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัว และการว่างงานของไทยที่ต่ำเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นอัตราว่างงานเฉลี่ย 1.1-1.2% แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบและมีการเข้าโครงการลาออกโดยสมัครใจ (เออร์ลี่ รีไทร์) จึงไม่นับว่ากลุ่มนี้เป็นคนว่างงาน ทำให้ไทยมีอัตราว่างงานในเกณฑ์ต่ำ