ไม่ฝุ่น ไม่ฟุ้ง “รถเข็นหมูปิ้ง ระบบกรองควัน” ครั้งแรกในไทย เตรียมขายเชิงพาณิชย์ 

ไม่ฝุ่น ไม่ฟุ้ง “รถเข็นหมูปิ้ง ระบบกรองควัน” ครั้งแรกในไทย เตรียมขายเชิงพาณิชย์ 

ติดอันดับเมนูขายดีริมฟุตบาท สำหรับ “หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง” สามารถหาซื้อง่าย รับประทานง่าย อิ่มท้องได้ด้วยราคาไม่แพง แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า “รถเข็นขายเมนูปิ้งย่าง” เป็นตัวการนึงที่ทำให้เกิดฝุ่น และกลิ่นฟุ้งไปทั่ว

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้คิดค้นและพัฒนารถเข็นหมูปิ้ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาพร้อมเตาปิ้ง  ชุดกรองอากาศ ระบบกรองน้ำดี-น้ำเสีย ถังเก็บไขมัน ให้แสงสว่างภายในรถเข็นด้วยแบตเตอรี่ชนิดก้อน  นับจากนี้ต่อไป หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง จะสะอาดปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ทีมนักวิจัยรถเข็นหมูปิ้ง กรองควันใสปิ๊ง ด้วยระบบบำบัดควัน  คือ  ผศ.ดร. มาฤดี ผ่องพิพัฒน์พงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และ ผศ. ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สำหรับขั้นตอนการใช้งาน มีเพียง 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1.เตรียมวัตถุดิบ (หมูปิ้ง/ลูกชิ้นปิ้ง) ในช่องเก็บความเย็น เพื่อคงอุณหภูมิของวัตถุดิบ

2.เตรียมน้ำสะอาดเข้าระบบกรองน้ำดี เพื่อให้พร้อมต่อการใช้ล้างมือ/อุปกรณ์ต่างๆ

3.เมื่อมีการปิ้งย่างเกิดขึ้น ระบบบำบัดควันจะทำงานทันที เพื่อกรองอากาศ

4.เมื่อน้ำดีผ่านการใช้งานเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการกรองน้ำเสีย ขณะที่น้ำมันที่ได้ระหว่างการปิ้งย่าง จะถูกส่งไปพักใต้ท้องรถเข็น เพื่อให้ผู้ค้าสามารถเลือกเทน้ำได้ตามธรรมชาติโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำไขมันบรรจุถุงไปทิ้งในพื้นที่รองรับเฉพาะ

ด้านผลที่คาดว่าจะได้รับ ทีมนักวิจัย เผยว่า นอกจากจะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในธุรกิจสายสตรีทฟู้ดแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับอาหารที่สะอาด ปลอดภัย สร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้คนในพื้นที่ ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ขายให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค ตลอดจนลดภาระหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสะอาดอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และเตรียมการจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์  

นอกจาก “รถเข็นหมูปิ้ง ระบบกรองควัน” ยังมี หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง โดยนักวิจัย คือ ดร. ภูมิ คงห้วยรอบ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์

ดร. ภูมิ คงห้วยรอบ  กล่าวว่า “ผู้บริโภค” บางคนได้รับหมูปิ้งที่ไม่สุก หรือสุกเกินไปจนไหม้เกรียม ซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณมากและต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวฉะนั้น ได้คิดค้นและพัฒนา “หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง” หุ่นยนต์แขนกลที่ทำหน้าที่ปิ้งหมูแทนแม่ค้า พ่อค้าสามารถควบคุมเวลาหยิบหมูย่างขึ้นจากเตาได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปิ้งจนมีบางส่วนที่ไหม้เกรียม เชื่อว่านวัตกรรมดังกล่าว จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับกลุ่มธุรกิจสตรีทฟู้ด ตลอดจนธุรกิจอาหารระดับอุตสาหกรรม

สำหรับองค์ประกอบของหุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง ประกอบด้วย

1 หุ่นยนต์แขนกล ที่มาพร้อมความสามารถในการหยิบจับ

2 สายพานปิ้งหมู ที่สามารถหมุนได้อัตโนมัติ 360 องศา 

3 ระบบแก๊ส ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

ขั้นตอนการใช้งาน หลักการใช้งานมีเพียง 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1 “หยิบหมูปิ้ง” ที่เสียบไม้เรียบร้อยแล้ว “วางหมูปิ้ง” ลงบนสายพานที่เตรียมไว้
2 “หยิบหมูปิ้ง” ขึ้นจากสายพาน เมื่อถึงเวลาที่กำหนด
3 “รูดหมูปิ้งออกจากไม้” เตรียมใส่จานแบบพร้อมเสิร์ฟ

ทั้งนี้ กระบวนการปิ้งหมูให้สุกทั่วทั้งไม้ จะใช้เวลาประมาณ 5-6 นาทีต่อไม้เท่านั้น ซึ่งในเบื้องต้นนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมต่อการปิ้ง และจัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟลูกค้า

การจดสิทธิบัตร ทั้งนี้ “หุ่นยนต์แขนกล” ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ในนามสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัทเอกชน และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขณะที่ “หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง” ยังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร