แชร์ 5 วิธีเก็บเงินในยุคเศรษฐกิจเหวี่ยง ทำได้จริงไม่มีอด

แชร์ 5 วิธีเก็บเงินในยุคเศรษฐกิจเหวี่ยง ทำได้จริงไม่มีอด

5 วิธีเก็บเงิน – ในยุคเศรษฐกิจผันผวนแบบนี้ หลายๆ คนคงหาวิธีรัดเข็มขัดกันมากขึ้น โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายแล้ว มีข่าวการเลิกจ้าง ปลดพนักงานออกมาเยอะจนเสียวสันหลังไปตามๆ กัน

เจ้าของกระทู้พันทิป ชื่อคุณ Are you for real ? ได้แชร์วิธีเก็บออมเงินของเธอ ที่อาจไม่ได้ทำให้รวยเร็วเป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นวิธีที่ทำได้นานและไม่ลำบากนัก โดยเธอได้แชร์วิธีไว้ 5 ข้อ ความว่า

สวัสดีค่ะ เห็นจากหลายๆ กระทู้เขาแชร์วิธีการเก็บเงินกัน เราเลยมีแรงฮึดอยากมาแชร์บ้าง หลายๆ คนคงทราบดีว่าตอนนี้เศรษฐกิจเดี๋ยวก็ขึ้น เดี๋ยวก็ลง เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายบริษัทปลดพนักงานออกเยอะ พาให้เราเองก็ยังเสียวสันหลังเบาๆ บวกกับเมื่อหลายเดือนก่อน เปิดแอพการเงินที่มีแล้วรู้สึกว่าเศร้าใจจัง เงินที่เคยเข้ามา มีเหลืออยู่แค่หลักร้อยเท่านั้น เลยรู้สึกนอยด์มาก เมื่อก่อนเคยเป็นคนเก็บเงินเก่ง แต่พออายุมากขึ้น กลับใช้เงินเก่งตามไปด้วย ไม่ใช่เรื่องดีเลย เราจึงอยากจะปรับเปลี่ยนนิสัยใหม่ ไม่อยากเห็นเงินในบัญชีต่ำเตี้ยเรี่ยดินอีกแล้ว ซึ่งเริ่มจาก

  1. ตั้ง Mindset ใหม่

หลายคนคงคิดว่ามาขายตรงหรือเปล่า แต่ไม่ใช่นะคะ จริงๆ แล้ว การตั้ง Mindset สำหรับเรา มันคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความคิดใหม่ จริงๆ เราอาจเคยคิดว่า เก็บเงินอะไร ทำไม่ได้หรอก มีหนี้ต้องใช้นะ บลาๆ ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ ก็จะทำให้คุณมี Mindset ฝังหัวไปว่า คุณไม่มีทางเก็บเงินได้ เพราะฉะนั้น มาตั้งความคิดใหม่ เปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset กันก่อน (Fixed Mindset คือความคิดฝังหัว เปลี่ยนแปลงยาก, Growth Mindset คือความคิดที่มีการปรับไปตามสถานการณ์ ทุกอย่างไม่มีผิดถูก มีแต่การเรียนรู้)

อันนี้ต้องขอยกเครดิตทั้งหมดนี้ให้กับบรรดา Podcaster และ Youtuber ด้านการเงินทั้งหลาย ที่เราได้ฟังนะคะ ซึ่งเราแนะนำให้ลองไปฟังดูค่ะ ไม่ได้ขายของให้พี่ๆ เขานะ แต่จะบอกว่า การได้เปิดหูฟังอะไรใหม่ๆ มันเหมือนเป็นการเปิดตา และเปิดสมองอย่างดี อีกอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การบริหารเวลา การใช้ชีวิตที่ดีมากๆ คุ้มค่าที่จะฟังค่ะ บางครั้งเราอาจจะท้อเรื่องการทำธุรกิจ การเก็บเงิน ทำไมไม่รวยสักที ก็จะกลับมาฟัง Podcast เหล่านี้ ซึ่งเขาให้พลังใจดีมากๆ สำหรับเรา

ถ้าจะแนะนำจริงๆ ลองเสิร์ชดูค่ะ (จริงๆ ในยูทูบมีเยอะมาก แต่เราแชร์เฉพาะที่เราฟังประจำนะคะ)
– คุณหนุ่ม Money Coach (เราฟัง The Money Case Podcast) อันนี้เรื่องเงินล้วนๆ เลยค่ะ ดีมาก ได้แง่คิดทุก episode
– คุณรวิศ หาญอุตสาหะ (เราฟัง Super Productive Podcast กับ Mission to the Moon) เรื่องการบริหารจัดการตัวเอง ชีวิต งาน ความคิดค่ะ
– คุณเคน นครินทร์ (เราฟัง The Secret Sauce Podcast) เรื่องของการทำธุรกิจ การสร้างสิ่งใหม่ๆ Design Thinking
– อาจารย์นพดล Nopadol’s Story พูดเรื่องการใช้ชีวิต ความคิด การทำงาน การใช้ OKR มาดำเนินชีวิต
– คุณพอล ภัทรพล (ดูช่อง Money Matters ใน Youtube) เรื่องเงินล้วนๆ มีประโยชน์ดีนะคะ
– คุณพี่ทุย Money Buffalo เรื่องเงิน เศรษฐกิจเช่นกัน
– ทีมงาน Finnomena Channel ก็เงิน ลงทุน เศรษฐกิจค่ะ, เป็นต้น

2. จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย

เจ้าของกระทู้สาวบอกว่า จริงๆ ส่วนมากเธอจะจดแค่รายจ่าย รายรับก็จด แต่จะเน้นไปที่รายจ่ายมากกว่า
เพราะเธอเคยสงสัยกับตัวเองว่า ในเดือนหนึ่ง เงินหายไปอยู่ที่ไหนหมด เธอไปใช้ตอนไหนนะ เลยเริ่มรู้แล้วว่ามันไม่ใช่แล้วที่อยู่ๆ สสารจะหายไปเอง ทำให้ต้องจดดูนั่นเอง เธอบอกว่าเธอจะมีสมุดเล็กๆ ไว้จด ซึ่งเธอเริ่มจดมาตั้งแต่ต้นปี มีหยุดไปบ้าง ลืมบ้าง แต่มาจริงจังเอาตอนเดือน มิ.ย. เธอจะจดคร่าวๆ ประมาณว่า
– ใน 1 วันฉันหมดเงินไปกับอะไร อันนี้จะรู้เลย ถ้ากางเป็นเดือนออกมา จะเห็นว่าเข้า 7-ELEVEN บ่อยมาก
– ถ้าวันไหนมีการชำระหนี้ เช่น ค่าบัตรเครดิต ค่ารถ ค่าโทรศัพท์ ค่าเน็ต ก็ต้องลงไว้ด้วย
– ใน 1 วันฉันมีรายรับอะไรเข้ามาบ้างไหม ก็คล้ายๆ จดรายรับจากรายได้เสริมที่ไม่ใช่เงินเดือน
– ใน 1 วัน รวมแล้วฉันหมดเงินไปกี่บาท

* ขออภัยในรูปมันดูเละเทะไปหน่อยนะคะ ของเดือนกันยายนเขียนเรียบร้อยกว่านี้ค่ะ อันนี้ของเดือนก่อนๆ

รูปดังกล่าว เจ้าของกระทู้ให้ข้อมูลว่า เป็นสมุดจดหนี้คงค้าง เป็นพวกหนี้บัตรของเดือนก่อนๆ หนี้รถ พวกค่าโทรศัพท์ จะทำให้รู้ว่า ที่ผ่านมาใช้เงินเปลืองแค่ไหน


เธอยังเผยอีกว่า อีกขั้นหนึ่งของการจด คือ เธอจดทุกอย่างลง Excel ซึ่งในไฟล์ จะเป็นบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมด กองทุนทั้งหมด สลากทั้งหมด แล้วรวมเอาไว้ตรงช่องท้าย ซึ่งรูปด้านล่างเป็นรูปที่เธอนำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง พอดีเก็บสถิติของหลายปีก่อนไว้ด้วย เธอกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เธอจะอัพเดตไฟล์นี้ทุกวัน หลังหยอดกระปุก เคลียร์เป๋าตังค์ หลังเช็กยอดจากการลงทุนผ่านแอพ ได้เห็นเงินกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ก็สนุกดี ถ้าเป็นพวก Savings ไม่เท่าไร ส่วนมากจะนิ่งๆ แต่ถ้าเป็นผังกองทุน อันนี้ก็ดีด ขึ้นลงทุกวัน สนุกสนานกันไป ซึ่งเธอโชคดีที่ลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย (ลงกองทุนแรกตอนอายุ 22 ตอนนี้ 30) เลยพอจะเข้าใจเรื่องความผันผวน แต่ก็ยังไม่ได้ลงตัวหุ้นจริงๆ สักที เพราะความรู้ยังเท่าหางอึ่ง แต่ถ้ามีโอกาสเธอก็อยากจะลองดู

3. เคลียร์กระเป๋าสตางค์ทุกวัน เอาใบเสร็จออกมา

เธอจะเคลียร์กระเป๋าสตางค์ทุกวัน เพื่อเก็บเอาแต่แบงก์ใส่กระเป๋า พวกเหรียญจะควักออกมาหยอดในข้อ 4 ทั้งหมด ไม่มียกเว้น ส่วนพวกบิลใบเสร็จ ยังเก็บไว้อยู่ เธอกล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร พร้อมถามว่าใครมีไอเดียนำไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่

4. แบ่งกระปุกออมสินตามชนิดของเหรียญและธนบัตร

เธอกล่าวว่า อาจดูยากแต่โดยส่วนตัวเธอสนุกกับการเก็บเงินแบบนี้มาก เพราะต้องรอลุ้นจนจบวันว่า วันนี้จะได้เหรียญอะไรบ้าง โดยเธอแบ่งเงินออกเป็น 5 กระปุกใหญ่ๆ ได้แก่
– กระปุก 1 = เก็บแต่แบงก์ ทุกประเภท ตั้งแต่แบงก์เขียว ฟ้า แดง ม่วง เทา
– กระปุก 2 = เก็บแต่เหรียญ 10 บาท
– กระปุก 3 = เก็บแต่เหรียญ 5 บาท
– กระปุก 4 = เก็บแต่เหรียญ 2 บาท
– กระปุก 5 = เก็บแต่เหรียญ 1 บาท
ซึ่งความสนุกของมันอยู่ที่ ได้นั่งดูว่า กระปุกไหนจะเต็มก่อนกัน อาจดูไร้สาระ แต่เศษเหรียญ เศษตังค์ทอนพวกนี้แหละะ ที่เวลามารวมกันแล้วมันมีค่ามหาศาล เธอจะแปะ Post it ไว้ด้วยว่า กระปุกนี้ได้กี่บาทแล้ว ณ วันที่เท่าไร จะได้รู้ progression นั่นเอง


5. อยากลองสร้างรายได้ด้วยตัวเอง จึงเริ่มหารายได้เสริม

ตั้งแต่กลับมาเก็บออม ทำให้เธอรู้สึกอยากหาอะไรทำ อยากเห็นการเติบโตของเงินต่างๆ รวมทั้งอยากพัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย จากที่ทำงานมา 5 ปี การงานก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ได้โตมากกว่าที่เคยเป็น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เธออยากทำล่ะ? มันต้องสนุกแน่ๆ ซึ่งตอนแรก มันเริ่มจากการที่คุณแม่ของเธอท่านก็อยากหาอะไรทำหลังเกษียณ ก็เริ่มไปรับขนม ผ้าถุง เสื้อ กางเกงมาขาย บางวันคุณแม่ก็จะชวนให้ไปตลาดนัดด้วยกัน เธอเลยเกิดความคิดอยากนำเสื้อผ้ามือสองไปขายด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เธอลองทำคือ การโละตู้เสื้อผ้า ซึ่งเธอรู้สึกทำใจยากแต่รู้สึกโล่งมาก เพราะได้เคลียร์เสื้อผ้าที่ตอนนี้ใส่ไม่ได้แล้วนั่นเอง

เธอเล่าต่อว่า เริ่มขายตามตลาดนัดแถวบ้าน อำนาจการต่อรองไม่ได้มีมากนัก ขายตัวละ 20 บาทด้วยซ้ำ 3 ตัว 50 บาท หากเสื้อผ้าที่ซื้อมาแพงๆ ก็ฝากเพื่อนลงไอจีขายให้ ในการขายของตลาดนัด ตอนแรกเธอคิดว่าจะขายง่าย แค่มีรถ เปิดท้ายขายของก็โอเคแล้ว แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย บางวันไปขาย มีแม่ค้ามากกว่าคนเดินซื้อของเสียอีก พอเอาของมาลง คนจะเข้ามารุมทึ้งเสื้อผ้าของเธอ เป็นความรู้สึกที่น่ากลัว สิ่งที่หนักที่สุด คือการต่อรองของลูกค้า บางรายขอต่อเหลือ 10 บาท เธอกล่าวว่า ในใจคิด เธอก็คิดว่าเสื้อผ้าดีๆ มียี่ห้อทั้งนั้น แต่ก็จำใจขาย เพราะไม่งั้นก็ขายไม่ออก ทำให้ช่วงแรกๆ เธอรู้สึกนอยด์มาก เพราะบางชุดซื้อมา 400 พอนำมาขาย กลายเป็นตัวละ 40 บาท

ทำข้าวกล่องขาย 

เธอได้ไอเดียจากการที่คุณแม่ทำข้าวไข่เจียวอร่อยมากและเธอเองก็ไม่เคยทานที่ไหนอร่อยได้ขนาดนี้
จึงเกิดความคิดว่า ลองให้คุณแม่ทำ แล้วนำไปขายที่ออฟฟิศของเธอดีหรือไม่ ซึ่งในออฟฟิศมีคนแค่ 20-30 คนเท่านั้น อีกอย่างคือ เธออยากให้คนอื่นได้ลองทานอาหารอร่อยๆ ฝีมือคุณแม่เธอบ้าง เลยออกเมนูไข่เจียวมาล้วนๆ ซึ่งเป็นไข่เจียวจริงๆ ใส่พริก ใส่แหนม ใส่ผักได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคือตามใจแม่ค้า เช่น วันนี้มีวัตถุดิบอะไร ก็จะทำแต่อันนั้น ต้องพรีออร์เดอร์ก่อน 1 วัน และที่สำคัญ เธอไม่ใส่กล่องโฟม แต่ใช้เป็นกล่องเบนโตะใส่ข้าวแทน ใครสั่งอะไร วันต่อมาเธอจะมาทำงานพร้อมกล่องข้าวที่ตามคนสั่ง ใครทานเสร็จแล้ว ให้ล้างแล้วผึ่งไว้ตรงที่ล้างจาน แล้วตอนเย็นเธอจะเก็บกลับบ้านเอง

เธอกล่าวว่า ทำแบบนี้เป็นเรื่องสนุกไปอีกแบบ หากมีแรง มีกำลัง เธอก็อยากจะขยายไลน์ไปแผนกอื่นๆ เหมือนกัน แต่คุณแม่เธอบอกไม่ไหว เลยได้แต่ทำขำๆ ให้คนเขาได้อิ่มกันเท่านั้น พอหมดวัน เธอก็จะมาหารเงินกับคุณแม่ ซึ่งจะได้ส่วนมากหน่อยเพราะเป็นคนทำ ส่วนเธอได้ค่าคอมมิสชั่นจากการหิ้วของแทน


เก็บขวดขาย – เก็บกระดาษขาย

พอหลังๆ มา เธอเริ่มเป็นเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม เลยอยากจะเรียนรู้เรื่องการแยกขยะ จึงไปปรึกษากับร้านรับซื้อของเก่าและวงศ์พาณิชย์แถวบ้าน และได้ไอเดียมาเพียบ เพราะทุกวันนี้คนใช้ขวดพลาสติกกันเยอะมาก มันควรจะถูกนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี เธอจึงเก็บขวดขายมันเสียเลย โดยเริ่มจากการเก็บขวดในบ้านก่อน เมื่อก่อนเธออ้วนเพราะกินแต่ชาเขียวขวดเยอะ ทำให้ที่บ้านมีขวดเยอะมาก ไหนจะขวดน้ำเปล่าอีก พอหลังจากศึกษาแล้ว ก็เห็นว่าการเก็บขยะขาย จะต้องทำการคัดแยกขยะเสียก่อน อย่างน้อยต้องแยกขวดใส PET กับขวดขุ่น HDPE จับแยกใส่ถุงต่างหากไว้ แบบนี้ทางร้านเขาก็จะง่ายต่อการขนส่ง แถมได้ราคาดีกว่าไม่แยกด้วย

นอกจากนี้ เธอก็ยังหารายได้เสริมช่องทางอื่นๆ อีก เช่น สอนพิเศษเด็กแถวบ้านในราคาถูก เพราะบางบ้านไม่ได้มีฐานะมากนัก หรือบางครั้งก็นำพวกครอสติตช์ จิ๊กซอว์ เก่าๆ ที่เคยทำไว้มาใส่กรอบให้ดูสวยๆ แล้วขาย หนังสือเก่าๆ ที่ไม่ได้อ่านแล้ว ก็ส่งต่อทางกลุ่มเฟซบุ๊ก

การเก็บเงินของเธอ อาจไม่ได้เห็นผลภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาสักพัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เธอคิดว่าวิธีเหล่านี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะทุกข้อที่เธอลิสต์มา ล้วนส่งผลต่อความคิดและการกระทำในการซื้อของทั้งสิ้น ถ้ารู้จักการยับยั้งชั่งใจตัวเอง ก็จะละกิเลสได้ง่ายขึ้น เธอบอกว่า บางวันอยากได้ของใหม่ๆเหมือนกัน เช่น พวกครีมอาบน้ำ โลชั่น อันไหนที่เป็นของจำเป็นเธอก็ซื้อ ไม่ได้อดขนาดนั้น เธอกินอยู่ปกติ ไม่ได้อดจนเกินไป เพียงแต่งดกินตามในห้าง ก็เป็นการเซฟเงินได้เยอะเเหมือนกัน

 

ที่มา : แชร์วิธีเก็บออมเงินในแบบของเราคร่าวๆ 5 ข้อ (อาจไม่ได้ทำให้รวยเร็ว แต่ว่าเป็นวิธีที่ทำได้นาน)