‘วีรศักดิ์’ ลงพื้นที่ลุยยกระดับร้านขายของชำ ตั้งเป้า 3 หมื่นราย เป็นสมาร์ตโชห่วย

‘วีรศักดิ์’ ลุยลงพื้นที่จับเข่าคุยผู้ประกอบการ ยกระดับร้านขายของชำ ตั้งเป้า 3 หมื่นราย เป็นสมาร์ตโชห่วย

ลุยปั้นสมาร์ตโชห่วย 3 หมื่นร้าน – นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบปะผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก และลงพื้นที่ดูความพร้อมร้านค้าเพื่อพัฒนาเป็น “สมาร์ตโชห่วย” ใน จ.นครสวรรค์ ว่า ธุรกิจโชห่วยเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการจ้างงานในชุมชน ดังนั้น การพบปะเพื่อรับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะ จากผู้ประกอบการในพื้นที่จริงๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและผลักดันให้โชห่วยไทยเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ส่วนตัวมั่นใจว่า การที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนใจผู้ประกอบการรายธุรกิจลึกลงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย-รับฟังความคิดเห็น จะทำให้เข้าใจ-เข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจที่แท้จริง นำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขและต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ สามารถหามาตรการสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง ส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ ประชาชน ภาครัฐ และเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม นอกจากการพบปะพูดคุยเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ แล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาสู่การเป็นโชห่วยคุณภาพตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคนในชุมชนก็เป็นสิ่งจำเป็น นโยบายสำคัญที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือ การพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น “สมาร์ตโชห่วย” โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ การสั่งซื้อสินค้า การจัดทำบัญชี สต๊อกสินค้า การจัดรายการส่งเสริมทางการขาย การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีก/ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในและนอกพื้นที่ เป็นการสร้างฐานธุรกิจให้มีความมั่นคง ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการค้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใด ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะรับมือและปรับเปลี่ยนตาม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจระยะยาว โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนและดูแลอย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกร้านแรก ที่ได้ตรวจเยี่ยม คือ ร้าน ส.ล.โฮลเซลล์ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง เป็นร้านค้าขายส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ เป็นกิจการของคนไทย 100% และเป็นร้านค้าส่งที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านโชห่วย ประมาณ 300 ร้านค้า ครอบคลุม จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และชัยนาท จากการพูดคุยพบว่า ปัจจุบันทางร้านได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า รวมถึง มีการวางแผนกลยุทธ์ที่เน้นลูกค้าและตลาดเป็นสำคัญ ทำให้ลูกค้าที่เป็นร้านโชห่วยและประชาชนทั่วไปมีความพึงพอใจและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

ร้านที่สอง ได้เดินทางไปที่ร้านชัยสมบูรณ์โอสถ ต.โกรกพระ อ.โกรกพระ ซึ่งเป็นร้านโชห่วยต้นแบบในพื้นที่ ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์เช่นเดียวกัน เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค

หลังจากนั้น ได้เดินทางไป ต.พยุหะ อ. พยุหะคีรี เพื่อพบปะ/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการโชห่วยที่ต้องการพัฒนาร้านค้าของตนเองให้เป็น “สมาร์ตโชห่วย” จำนวน 70 ราย โดยผู้ประกอบการได้เข้ารับการอบรมการเป็น “สมาร์ตโชห่วย” เบื้องต้น ฟังคำชี้แจงรายละเอียด และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ ซึ่งได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี

โดยในปี 2563 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะพัฒนาร้านโชห่วยให้เป็น “สมาร์ตโชห่วย” จำนวน 30,000 ร้านค้า