“ประภัตร” หนุน ตั้งกองทุนไข่ไก่ทุนประเดิม ปีละ 50 ล้าน แก้ปัญหาช่วงราคาตก-เกิดโรคระบาด

‘ประภัตร’หนุน ตั้งกองทุนไข่ไก่ทุนประเดิม ปีละ 50 ล้าน แก้ปัญหาช่วงราคาตก-เกิดโรคระบาด

“ประภัตร” หนุนตั้งกองทุนไข่ไก่ – นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ และในฐานะผู้แทนประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมไข่ทั้งระบบ ภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กว่า 16 บริษัท รวมทั้งผู้เลี้ยงรายใหญ่ เห็นชอบร่วมกัน จัดตั้งกองทุนไข่ไก่ขึ้น ทุนประเดิม 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากการจัดเก็บ การนำเข้า ปู่ ย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ประมาณปีละ 4.4 แสนตัว เบื้องต้นจะเก็บตัวละ 50 บาท และจากผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ตัวละ 50 สตางค์

โดยสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก Egg Board เนื่องจากกองทุนนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชนเอง แต่กรมปศุสัตว์จะเป็นที่ปรึกษาและขับเคลื่อน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าว เพื่อจะนำเงินมาใช้ในกรณีที่เกิดปัญหาไข่ราคาตกต่ำ ไข่ล้นตลาด และโรคระบาด เป็นต้น

“ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แม้ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากไม่ทันการณ์ ในขณะที่ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่จะเกิดกองทุนนี้ขึ้น และต่อไปคิดว่าอุตสาหกรรมไก่ไข่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน”

นายประภัตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ไข่ไก่เป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังเป็นอาชีพหลัก ผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยปีละ 15,000 ล้านฟอง เป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และสามารถตอบสนองความต้องการการบริโภคของคนไทยได้อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราการบริโภคของคนไทยยังอยู่เพียง 247 ฟอง ต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายปี 2561 ที่ 300 ฟอง ต่อคนต่อปี ดังนั้นภาครัฐและเอกชน จึงร่วมกันรณรงค์บริโภคไข่ไก่ ในงานวันไข่โลก 11 ต.ค. 2562 เดินสายจัดกิจกรรมชวนบริโภคไข่ไก่ใน 3 โรงพยาบาลใหญ่ ศิริราช รามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์ ภายใต้แนวคิด “กินไข่ทุกวัน กินได้ทุกวัย”

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ทางสมาคมเห็นด้วยในหลักการตั้งกองทุนไข่ไก่ขึ้น เพราะในช่วงที่ไข่ราคาตกต่ำ เกษตรกรขาดทุน รัฐบาลไม่มีงบประมาณในการช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหาด้วยการรณรงค์กินไข่ ลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ทุกบริษัทต้องรวมกันจ่ายเงินกันเอง แต่ไม่มีความยั่งยืน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่ถูกจุด เพราะส่วนใหญ่หมดไปกับการชดเชยการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเดิมเคยมีการตั้งกองทุนพัฒนาธุรกิจไก่ไข่ เช่นกันอาจต้องนำมาทบทวนใหม่อีกครั้ง และปรับปรุงวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน