ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยรับยาของผู้ป่วยที่สถานพยาบาล ด้วยการให้ไปรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 (ขย.1) และจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ที่มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ต่อมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เริ่มดำเนินโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านอย่างปลอดภัย และให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป
ล่าสุด นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัด สธ. กล่าวว่า จากประสบการณ์เรื่องปัญหาความแออัดของโรงพยาบาล ยอมรับว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่เกิดความคุ้นชิน แต่ต้องคิดว่า นั่นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเป็นความคุ้นเคย
“นับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลของประชาชน ไม่มีอะไรปิดกั้น ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้าถึงหน่วยบริการ สถานพยาบาล และทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะบางพื้นที่ที่มีความชุกของประชากรมาก เช่น โรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีสัดส่วนอัตราครองเตียงผู้ป่วยในเกิน 100 เตียง และผู้ป่วยนอกถึง 3,000-4,000 คน” นพ.ประพนธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาความแออัดเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้ป่วยนอก โดยตั้งแต่ตี 5 จะเริ่มเห็นผู้ป่วยเดินทางไปเข้าคิวรับการรักษายังโรงพยาบาลแล้ว หากเป็นในอดีตก็จะเห็นสภาพที่นำรองเท้าแตะไปวางต่อคิว คำถามว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือ เพราะแม้แต่หน่วยงานอื่นก็มีการพัฒนาในเรื่องของการลดระยะเวลารับบริการไปแล้ว
“ส่วนของ สธ.ก็ต้องแก้ไขทีละขั้นตอน ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปัญหาความแออัดบ้างแล้ว เช่น การกรอกข้อมูลลงทะเบียนผู้ป่วยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นการกรอกข้อมูลแบบสมาร์ท คิว ผ่านทางระบบออนไลน์และจองคิวได้ล่วงหน้า จากนั้นก็นั่งรอเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนรับวินิจฉัยของแพทย์ ขณะที่คนไข้ก็อยากให้แพทย์ตรวจรักษาโดยเร็ว ซึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะสลับสับเปลี่ยนแพทย์ในส่วนอื่นมาช่วยวินิจฉัย เพื่อให้คนไข้ได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว แต่ในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีอัตรากำลังแพทย์จำกัดนั้น ทำได้ยาก ทำให้คนไข้กว่าจะได้รับการรักษาเวลาก็ 10 โมงไปแล้ว ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนการจ่ายยา เสร็จทุกขั้นตอนใช้เวลากว่าครึ่งวัน ดังนั้น ในอนาคตในเรื่องของการแจ้งเตือนคิว ต่อไปจะต้องพัฒนาให้มีการแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อลดความแออัดการนั่งคอยในโรงพยาบาลด้วย” นพ.ประพนธ์กล่าว และว่า ในการลดความแออัดของห้องยา ที่ผ่านมา พยายามหาทางแก้ไขและพยายามทำเพื่อแก้ไขปัญหาแออัดในบางพื้นที่ กระทั่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ ทุกอย่างก็เริ่มขยับมากขึ้น
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล รับบริการที่ร้านขายยาใกล้บ้านและใกล้ที่ทำงาน ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลบางแห่งที่ทดลองโครงการนี้ พบว่าช่วยลดจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้จริง และจากผลการศึกษามีข้อมูลพบว่า ประชากรที่เจ็บป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลมีการดูแลตนเองโดยซื้อยาแผนปัจจุบันมารักษาตนเอง โดยไม่ต้องไปสถานบริการทางการแพทย์ร้อยละ 27.2 หรือประมาณ 3.3 ล้านคน รวมถึงในกลุ่มผู้ป่วยนอก ส่วนใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ และสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนได้
“แต่ก็เข้าใจว่า ด้วยความศรัทธา คนไข้ก็มุ่งเน้นเดินทางเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงพยายามลดความแออัดในการขั้นตอนการรับยา พร้อมเลือกกลุ่มโรคที่สามารถเข้ารับบริการรับยาใกล้บ้านได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยได้รับยาเหมือนเดิม โดยร้านขาย ขย.1 ซึ่งเป็นร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ กว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ จะช่วยจ่ายยาให้แก่คนไข้ได้ หลังจากผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว สามารถเลือกร้านขายยาใกล้บ้านจากแผนที่จีโอกราฟฟิก เพื่อไปรับยาโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ” นพ.ประพนธ์ กล่าว
รองปลัด สธ. กล่าวถึงความคาดหวังของโครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลว่า ในการให้คนไข้ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ ซึ่งโรงพยาบาลมีการเชื่อมโยงกับร้านขายยาด้วยระบบไอที จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้บริการให้สาธารณสุข เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบอื่นของไทย ซึ่ง สธ. จะต้องพยายามคิดนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพราะปัจจุบันอยู่ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ขณะนี้ร้านขายยาที่ร่วมเป็นเครือข่ายบริการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อมจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และคาดหวังในอนาคตจะเห็นแพทย์ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น และมีภาระงานที่เหมาะสม
“สำหรับขั้นตอนการให้บริการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ของร้านยา ภายหลังที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ และได้รับใบสั่งยา ให้ผู้ป่วยยื่นใบสั่งยาและลงนามยินยอมรับยาจากร้านขายยา และให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่ร้านขายยาด้วยความสมัครใจที่ร้านยา ณ ห้องยาของโรงพยาบาล ผู้ป่วยกลับบ้านและรอนัดหมายรับยาที่ร้านยา โดยเภสัชกรโรงพยาบาลตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยา จากนั้นโรงพยาบาลและร้านขายที่เป็นเครือข่ายจะสามารถเลือกการให้บริการได้ 3 รูปแบบ ตามความเหมาะสม
รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลเป็นผู้จัดซื้อ ตรวจรับ เบิกจ่าย และจัดยาสำหรับผู้ป่วยรายบุคคล และส่งยาไปที่ร้านยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ โดย สปสช.เป็นผู้จ่ายค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้ร้ายขายยา และจ่ายค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการให้หน่วยบริการ
รูปแบบที่ 2 โรงพยาบาลเป็นผู้จัดซื้อ ตรวจรับและเบิกจ่ายยาไปสำรองไว้ที่ร้านยา โดยมีระบบควบคุมกำกับ และตรวจสอบสินค้าคงเหลือ และให้เภสัชกรร้านขายยาเป็นผู้จัดยา จ่ายยาให้ผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ โดย สปสช.เป็นผู้จ่ายค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้ร้านยา และจ่ายค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการให้หน่วยบริการ
รูปแบบที่ 3 ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาและสำรองยา รวมทั้งจัดยา จ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ โดยโรงพยาบาลเป็นผู้จ่ายค่ายาให้ร้านยา และ สปสช.เป็นผู้จ่ายค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้ร้านยา และจ่ายค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการให้หน่วยบริการ ซึ่ง สปสช.จะจ่ายจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับร้านยาให้แก่ร้านยาในอัตราชดเชย 70 บาท ต่อ 1 ใบสั่งยา ส่วนค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการร่วมกับร้านยาให้แก่โรงพยาบาลแม่ข่าย ในอัตราเหมาจ่าย 33,000 บาทต่อร้านยา 1 แห่งต่อปี” นพ.ประพนธ์ ระบุ
ล่าสุด สธ.ได้มีหนังสือสั่งการที่ สธ.0207.052ว.598 ลงวันที่ 18 กันยายน 2562 ถึงอธิบดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เพื่อแจ้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการ สธ. เรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งรับทราบ และสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกแห่งขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ขณะที่ สปสช.ได้อนุมัติหลักการใช้เงินกองทุนงบรายได้สูงต่ำของค่าใช้จ่าย 399 ล้านบาท ดำเนินโครงการนี้ ยืนยัน และมั่นใจได้ว่า ทุกหน่วยบริการที่เข้าโครงการพร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป!