ธ.ก.ส. คลอดสินเชื่อปลูกป่า 5,000 ล้าน หวังเกษตรกรมีกิน มีใช้จากการปลูกป่า

ธ.ก.ส. คลอดสินเชื่อปลูกป่า 5,000 ล้านบาท หวังเกษตรกรมีกิน มีใช้จากการปลูกป่า

ธ.ก.ส. เปิดโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ ให้เกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำใน 11 จังหวัด วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 100,000 บาท  ตั้งเป้าเกษตรกร 50,000 ราย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร หนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการบุกรุกทำลายป่า สร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยว่า ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “ประชารัฐสร้างไทย” เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรลูกค้าเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และสร้างรายได้จากการปลูกป่าอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่เป้าหมายที่ป่าไม้ถูกบุกรุกและเป็นป่าต้นน้ำใน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก และเลย ตามแนวทางปลูกป่า 3 อย่าง (ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ) และประโยชน์ 4 อย่าง (พออยู่ พอกิน พอใช้ ประโยชน์ต่อระบบนิเวศ) ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหมายเกษตรกรลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 50,000 ราย เนื้อที่รวม 500,000 ไร่ วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 100,000 บาท รวม 5,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนักหรือมีหนี้สินเดิมและต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และผ่านการประเมินความสามารถในการประกอบอาชีพตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร โดยปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน 5 ปีแรก นับแต่วันที่ขอกู้

โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 – 3 เท่ากับ MRR – 3 ปีที่ 4 – 6 เท่ากับ MRR – 2 ปีที่ 7 – 9 เท่ากับ MRR – 1 และปีที่ 10 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึง 31 กรกฏาคม 2564 และกำหนดชำระคืนเงินกู้ตามที่มาของรายได้ ไม่เกิน 15 ปี โดยประเภทที่ดินของเกษตรกรลูกค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้แก่ โฉนดที่ดิน น.ส.3 ,น.ส.3 ก, น.ส.3 ข และ ส.ป.ก. 4-01 รวมถึงที่ดินที่รัฐอนุญาตให้ทำประโยชน์ ได้แก่ สทก.1 ก, สทก.2 ก, สทก.1 ข, น.ค3 ก, สน.5 และที่ดินที่ทางการอนุญาตอื่นๆ

 

ด้านนายธัชพงศ์ กุลเทพพรม ตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เผยว่า เดิมประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และไร่ข้าวโพด หลังได้รับสินเชื่อ จำนวน 1 แสนบาทจะนำมาลงทุนต่อยอดปลูกพืชผสมผสาน เช่น ทำสวนยางพารา  ทำสวนผลไม้  ปลูกผัก รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ สามารถนำผลผลิตจากป่า เช่น ผักป่า ผักพื้นบ้าน เงาะ ลองกอง รวมถึงน้ำยางพารา มาจำหน่าย สามารถสร้างรายได้รวมเดือนละ 18,000-20,000 บาท