หมอออกโรงเตือน! แอลกอฮอล์ และยา 5 ประเภท ทำเสี่ยงหยุดหายใจ

หมอออกโรงเตือน! แอลกอฮอล์ และยา 5 ประเภท ทำเสี่ยงหยุดหายใจ

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า กลไกการหายใจของคนเราไม่ได้เริ่มจากอก แต่เริ่มจากสมอง ที่เป็นดั่งศูนย์บัญชาการใหญ่ สั่งลงไปให้หายใจแบบอัตโนมัติ จัดให้มีการสูดลมหายใจเข้าปอดเติมออกซิเจนไปให้ลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองแบบไม่ต้องร้องขอ ดังนั้น การแกล้งกลั้นหายใจเองให้ตายแบบในละครนั้น ทำไม่ได้ เว้นไว้เสียแต่ว่าจะถูกทำให้หยุดหายใจด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม

“ความน่าห่วงอยู่ตรงนี้ที่มีกิจกรรมบางเรื่อง ทำให้เกิดเรื่องขึ้นได้อาจโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยานอนหลับ สำหรับหลายคนอาจไม่ตายเพราะบอกว่าทำอยู่หลายครั้งตลอดชีวิตไม่เห็นเป็นไร แต่อย่าลืมว่าปัจจัยเสี่ยงแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าดื่มหนักๆ หรือถูกกรอกเหล้าเข้าปากมากจนแอลกอฮอล์เกินขนาด ก็อาจตายได้ หรือบางคนตั้งใจกินยานอนหลับเพื่อฆ่าตัวตาย หนักหน่อยกินยานอนหลับหรือสารกดประสาทพร้อมสาดแอลกอฮอล์ตาม” นพ.กฤษดา กล่าว

และว่า ทั้งนี้ ปัญหาที่พบบ่อยคือ การใช้สารกดประสาทร่วมกันและเกินขนาด ทำให้ส่วนของสมองที่คุมการปั๊มหายใจถูกกด หรือดังมีรายงานการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนร่วมกับยานอนหลับ ความตายและหายนะนานัปการจะบังเกิดเมื่อศูนย์หายใจในสมองถูกกดจนทำให้สั่งงานไม่ได้ ดังมีสัญญาณอันตรายของภาวะกดทางเดินหายใจ คือ มึนงง-สับสน, เพลียหมดแรง, คลื่นไส้-อาเจียน, มีเสียงเฮือกหรือถอนหายใจ, ซีดหรือเห็นสีม่วงที่ริมฝีปาก-นิ้วมือหรือนิ้วเท้า, หายใจตื้น, หายใจช้าลง, หยุดหายใจ ภาวะหายใจล้มเหลว จะเห็นว่าป้ายสุดท้าย คือ ลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่หยุดนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ จะค่อยๆ หายใจเบาลง ช้าลงจนถ้าไม่ใส่ใจก็จะกลายเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายไปได้ หรือถ้ารอด สมองอาจตาย เข้าข่ายโคม่า

ดังนั้น สิ่งที่พึงระวังคือ การใช้สารต่อไปนี้ ที่มีสิทธิ์เสี่ยงทำให้หยุดหายใจ ควรรู้ไว้ 6 ประเภท คือ

1) ยานอนหลับ-ยาระงับอาการวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะเซพีนส์ หรือยากลุ่มบาร์บิทูเรตส์ (Barbiturates) ที่ใช้คลายกังวล (sedative hypnotic) หรือใช้เป็นยากันชักแต่มีผลข้างเคียงได้

2) ยาที่ใช้ทางวิสัญญีวิทยา

3) ยากันชัก อย่าง ฟีโนบาร์บิทัล

4) เอทานอล หรือ แอลกอฮอล์ หรือ เมรัยในแก้วดื่มทั้งหลายนี่เอง ที่หายนะจะยิ่งบังเกิดถ้านำมาผสมกับยานอนหลับหรือยาที่มีฤทธิ์ให้หลับอื่นๆ เช่น ผสมกับยา กลุ่มบาร์บิทูเรตส์หรือคลอรัลไฮเดรต (Chloral hydrate)

5) ยาแก้ปวด ฝิ่น, อนุพันธ์ฝิ่น, มอร์ฟีน, ทรามาดอล, เฟนตานิล, เฮโรอีน

6) สารเสพติด เช่น ยาบ้า, โคเคน, ยาเสียสาว (Gamma Hydroxy Butyrate, GHB)

 

อย่างไรก็ดี ยาทั้งหลายที่ว่ามานี้ ถ้าเป็นไปเพื่อการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ อย่างยาสลบ หากอยู่ใต้การดูแลของวิสัญญีแพทย์ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าพาตัวเข้าไปเสี่ยงกับการดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ เพราะมันจะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการใช้สารอื่นที่ทำให้เสี่ยงหยุดหายใจได้โดยไม่รู้ตัว