เอกชนเจอพิษสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทุบโรงงานเจ๊ง ส่อเลิกจ้างแรงงาน

เอกชนเจอพิษสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทุบโรงงานเจ๊ง ส่อเลิกจ้างแรงงาน – ‘สุริยะ’ สั่ง สศอ. เทรนผู้ประกอบการปรับตัวด่วน

โรงงานเจ๊งส่อเลิกจ้างแรงงาน – นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการติดตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ของ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอมรับผู้ประกอบการหลายรายในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง มีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานในลักษณะเดียวกับบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจีน เพื่อนำไปประกอบแล้วส่งต่อให้สหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ยอดคำสั่งซื้อหายไปมาก ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าไปอีก ทาง ส.อ.ท. อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และไม่อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เพราะอาจยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหนักกว่าเดิม

“สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิตฯ เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวโดยการเลิกจ้าง ซึ่งกลุ่มแรกคือลูกจ้างที่อยู่ในช่วงทดลองงาน (โปร) 4 เดือนตามกฎหมายแรงงาน เพราะไม่ต้องการพนักงานใหม่เพิ่ม ส่วนพนักงานประจำยังไม่เลิกจ้าง เพราะเห็นว่าสถานการณ์ต่อไป หากทางจีนและสหรัฐเจรจาต่อรองกันได้ สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ยอดคำสั่งซื้อก็จะกลับเข้ามา ถ้าขาดแรงงาน ก็จะกลับมารับใหม่ได้”

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจะเริ่มจากเบา ไปหนัก เช่น เริ่มจากลดค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดชั่วโมงการทำงานลง ลดแรงงานกลุ่มทดลองงาน หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะเปิดรับสมัครใหม่ แต่ในจำนวนที่น้อยลง เพื่อยกระดับขึ้นมาใช้เทคโนโลยีแทนได้ หรือหนักสุด คือ ปิดโรงงานบางแห่ง หรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น และถ้ายังมีปัญหาอีกก็ปิดโรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางลดผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ โดยล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหากรณีการปลดแรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น สศอ. อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานแห่งชาติ รองรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และมีระบบสารสนเทศเพื่อนำเข้าและส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงาน คาดจะเริ่มนำร่องใช้ในสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก่อน

นอกจากนี้ จะเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยเคยมีศักยภาพ มีแรงงานและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก แต่ต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2573 มีมาตรการย่อยต่างๆ อาทิ การสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ การยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ

ขณะเดียวกันจะใช้โอกาสจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ทำให้หลายประเทศที่ลงทุนอยู่ในจีนและสหรัฐ ต้องการย้ายฐานการลงทุน ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยจะเร่งเดินสายพบปะนักลงทุนต่างชาติ (โรดโชว์) ดึงดูดการลงทุนใหม่ ทั้งยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างกรอบแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนต่างๆ รองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติด้วย