เกษตรกรจ๊าก! 5 เดือนปลากะพงราคาดิ่ง 50% เหลือโลละ 55 บาท รอวันตาย

5 เดือนปลากะพงราคาดิ่ง 50% เหลือโลละ 55 บาท – เกษตรกรยื่นหนังสือถึง ‘เฉลิมชัย’ ช่วยสกัดนำเข้าปลาจากเพื่อนบ้านดัมพ์ราคาผู้เลี้ยงปลาช่อนเลิกกิจการกว่า 80%

ปลากะพงราคาดิ่ง 50% – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาปลากะพงที่ปรับตัวลดลงจากการนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ว่า เรื่องนี้ได้ให้กรมประมงเข้าไปตรวจสอบ หากการนำเข้าดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระทรวงเกษตรฯ หรือรัฐบาลอาจดำเนินการอะไรไม่ได้มาก เพราะเป็นเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง แต่ในโลกการค้าเสรีสิ่งที่ต้องทำคือเกษตรกรไทยต้องปรับตัว พัฒนาศักยภาพให้สามารถรับมือการแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ อาทิ ปลากะพงขาว ปลาช่อน ปลากดคัง ปลากราย ปลาดุก ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา เป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาปลากะพงตกลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ลดเหลือ 55-75 บาท/กิโลกรัม (กก.) หรือลดลงมากกว่า 50% จากวันที่ 17 เม.ย. 2562 ราคาอยู่ที่ 110-130 บาท/กก.

ส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาช่อน ขณะนี้เลิกเลี้ยงไปแล้วมากกว่า 80% ในขณะที่ผู้เลี้ยงแถบ จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ในขณะนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 20% เท่านั้น สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย จึงส่งหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์จากรมว.เกษตรฯ ให้ช่วยดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ผลผลิตปลากะพง ปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 70,000 ตัน ปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 14% หรือประมาณ 80,000 ตัน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการควบคุมการนำเข้าปลาจากเพื่อนบ้าน ช่วงนี้ ปลากะพงมาจากมาเลเซีย นำเข้ามาวันละ 100-200 ตัน สัปดาห์ละ 4-5 วัน หรือประมาณ 1 แสนตัน ยังไม่รวมการนำเข้าจากกัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ปลาจากบ่อราคาถูกมาก แต่ราคาที่ผู้บริโภคซื้อในท้องตลาดยังสูงอยู่ การลดลงหรือนำเข้าของปลาจากต่างประเทศผู้บริโภคคนไทยจึงไม่ได้ประโยชน์ แต่กำลังทำให้เกษตรกรไทยกำลังจะตาย”

นายสุทธิ กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่เข้ามาดูแลในเรื่องของการนำเข้า ทั้งเรื่องของปริมาณ และคุณภาพ นอกจากเกษตรกรจะเดือดร้อนเพราะราคาสินค้าตกต่ำ แต่เรื่องของมาตรฐาน การตรวจสารเคมี ที่ยังไม่เข้มข้น อยากให้รัฐบาลช่วยปกป้องสิทธิ ความเป็นเกษตรกรไทย ที่ผลิตอาหารให้คนไทยบริโภคด้วย ภายใต้กฎระเบียบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ปลอดภัย ของกรมประมง โดยการควบคุมมาตรฐานการนำเข้าให้ได้ตามที่กรมประมงต้องการ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเล ในฐานะนายกสมาคม ได้ยื่นหนังสือต่อนายเฉลิมชัย ถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรจากผลกระทบการนำเข้าปลากะพงและปลาช่อน จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งแต่ต้นปี 2562 เพื่อขอความช่วยเหลือ ให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยดูแลแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรไทยด้วย

ด้าน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การนำเข้าปลาจากมาเลเซียมีทั้งที่ถูกกฎหมายและการลักลอบ โดยการตรวจสอบปริมาณการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาถือว่าปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยราคาที่ปรับลดลงของการนำเข้าอาหารทะเล หรือการนำเข้าสินค้า ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเข้ามาขายมากขึ้น เพราะราคาที่นำเข้าจะมีราคาที่ถูกลง ส่วนการห้ามนำเข้าปลาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการเปิดเสรีทางการค้า